[J-HERO.COM REVIEW] Ressha Sentai Toqger แล้วรถไฟจะพาหัวใจของเรากลับบ้าน

ชื่อซีรี่ส์ :

烈車戦隊トッキュウジャー (เรสฉะเซนไต ทคคิวเจอร์)
ผลิตโดย : Toei Company และ Bandai Visual
เขียนบท : ยาสุโกะ โคบายาชิ (Head writer), อาคัทสึกิ ยามาโทยะ, โช ไอคาว่า
กำกับ : โชจิโร่ นาคาซาว่า (Head Director), คัทสึยะ วาตานาเบะ, โนโบรุ ทาเคโมโต้, ฮิโรยูกิ คาโต้
วันที่ออกฉาย : 16 กุมภาพันธ์ 2014 – 22 กุมภาพันธ์ 2015 ทางสถานีโทรทัศน์ TV Asahi (จำนวนทั้งสิ้น 47 ตอน)
Official Site : http://www.toei.co.jp/tv/toqger

果てしない線路の向こう側
輝いているものはなんだろう!?
ドキドキ経由の列車に乗って 

確かめに行こう

สุดปลายทางที่ทอดยาวไปออกไปนั่น

สิ่งนั้นคือแสงสว่างรึเปล่านะ!?

รีบกระโดดขึ้นรถไฟด้วยความตื่นเต้น

แล้วออกไปค้นหาความจริงด้วยตัวของเราเองเลย

(จากเพลงเปิด “เรสฉะเซนไต ทคคิวเจอร์”)


เรื่องย่อ : (สปอยล์เต็มๆ นะครับ)

เมืองเล็กๆ ที่แสนสงบสุขนามว่า “ซูบารุกาฮามะ” ได้ถูกกลุ่มเหล่าร้ายอย่าง “ชาโดว์ไลน์” เข้ายึดครองเพื่อสร้างเป็นสถานีรถไฟแห่งความมืด เด็กๆ ทั้งห้าคน “ซูซูกิ ไรโตะ” / “ฮารุ โทคัทจิ” / “นัทสึเมะ มิโอะ” / “โนโนะมูระ ฮิคาริ” และ “อิซูมิ คางูระ” ที่บังเอิญเที่ยวเล่นในงานเทศกาลประจำเมืองก็พบว่าเมืองของตัวเองกำลังจะถูกความมืดเข้ากลืนกิน แต่ด้วยพลังจินตนาการอันแรงกล้า ทำให้ประธานแห่งสถานีรถไฟสายรุ้ง “เรนโบว์ไลน์” ใช้พลังดึงพวกเค้าออกมาก่อนที่ความมืดจะครอบงำ จนทำให้เด็กน้อยทั้งห้ากลายเป็นผู้ใหญ่ และจากนั้นก็มอบภารกิจในการปลดปล่อยความมืดจากเมืองที่ถูกชาโดว์ไลน์เข้ายึดครอง โดยขนานนามพวกเค้าว่า “ทคคิวเจอร์”

ทคคิวเจอร์ทั้งห้าคนนอกจากจะต่อสู้เพื่อปกป้องสันติสุขของทางรถไฟสายรุ้งแล้ว พวกเค้ายังต้องออกตามหาบ้านเกิดของตนโดยที่ไม่มีความทรงจำใดๆ เหลืออยู่เลย และพวกเค้ายังต้องรับมือกับจักรพรรดิ์แห่งความมืด “เซ็ท” ที่คอยส่งลูกสมุนมาขัดขวางอยู่เป็นระยะๆ ด้วยความร่วมมือของ “นิจิโนะ อากิระ” อดีตชาโดว์มมอนสเตอร์ที่ต้องการล้างบาปให้ตัวเอง (บาปที่เกิดจากการสร้างฝน … เหตุผลน่าบั่นทอนปัญญายิ่งนัก) ทำให้ทคคิวเจอร์แข็งแกร่งกว่าเดิมขึ้นหลายเท่าตัว 

จนเมื่อพวกเค้าได้พบกับบ้านเกิด ฝันร้ายก็ไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น เพราะเมืองซูบารุกาฮามะได้ถูกครอบงำโดยสถานีใหญ่ของชาโดว์ไลน์ (ว่ากันง่ายๆ ก็ปราสาทบอสนั่นล่ะ) แต่เพราะความช่วยเหลือของ “กริต้า” บุตรสาวมาดามนัวร์แห่งกองทัพชาโดว์ไลน์ที่ยอมทิ้งความตั้งใจของแม่เพื่อปลดปล่อยเมืองให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง แต่ก็ต้องแลกกับความจริงที่น่าเศร้าว่าไรโตะ (ทคคิว#1) จะกลับมาเป็นเด็กเหมือนเดิมไม่ได้อีก

ไรโตะเห็นว่าถ้าหากดื้อดึงให้ทุกคนสู้ต่อไป เพื่อนๆ อาจจะต้องสูญเสียวัยเด็กไปตลอดกาล เค้าเลยเสียสละยอมไปสู้เพียงลำพังโดยแลกกับการให้เพื่อนๆ ได้กลับบ้าน พร้อมกับคืนความเป็นเด็กให้กับทุกคน ไรโตะออกไปสู้แต่ก็ต้องเสียท่าให้กับจักรพรรดิ์มืด แต่ด้วยพลังแห่งมิตรภาพของทุกคนก็ทำให้ทคคิวเจอร์กลับมาพบกัน และร่วมต่อสู้กับไรโตะจนสามารถโค่นจักรพรรดิ์แห่งความมืดลงได้ จากนั้นพลังแห่งจินตนาการที่กล้าแกร่งก็ทำให้ทคคิวเจอร์ทั้ง 5 คนได้กลายเป็นเด็กตามเดิม และกลับบ้านไปหาครอบครัวอย่างมีความสุข

วิจารณ์ :

นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเอาธีมของ “รถไฟ” มาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และก็ต้องบอกว่านี่คือการ “สร้างหนทางใหม่ของธีม” อีกครั้งหลังจากขบวนการจารชนโกบัสเตอร์ เพราะยุคหลังๆ นี้หนังแปลงร่างเริ่มที่จะเอาธีมเก่าๆ มารีไซเคิลใหม่ ทั้งรถ ไดโนเสาร์ นินจาหรือพวกหมัดมวย ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด นับตั้งแต่มีภาพหลุดของขบวนการนี้หลุดออกมาก็มีเสียงวิพากษ์ในแง่ลบค่อนข้างเยอะ ทั้งดีไซน์ของชุดรวมไปของเล่นที่ดูเหมือนผลิตออกมามักง่ายไปหน่อย แต่ด้วยชื่อชั้นของคนเขียนบทอย่าง “ยาสุโกะ โคบายาชิ” ที่เคยฝากผลงานเก่าๆ ไว้มากมายทั้งคาเมนไรเดอร์ OOO / คาเมนไรเดอร์เดนโอ หรือซามูไรเซนไตชินเคนเจอร์ก็เพียงพอต่อการติดตามซีรี่ส์นี้ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไรนัก แต่เมื่อออกฉายไปได้ซักระยะก็ต้องพบว่าเนื้อหาของเรื่องนั้นแทบจะเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กเล็กซะเป็นส่วนใหญ่ และในส่วนของการดีไซน์ชุดแปลงร่างกับของเล่นก็ทำเอาแฟนๆ รุ่นใหญ่ที่ติดตามหนังแปลงร่างมาหลายปีถึงกับส่ายหน้าเลยทีเดียว

แล้วมันเลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือ?

ตำตอบก็คือ … ไม่หรอกครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าหนังแปลงร่างช่วงเช้าวันอาทิตย์ของโตเอะนั้นมีธีมหลักที่เด่นชัดอยู่พอสมควร โดยเนื้อหา ณ ปัจจุบันนั้นทางฝั่งซุปเปอร์เซนไตจะเจาะไปที่เด็กเล็กเป็นหลัก ส่วนคาเมนไรเดอร์มีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น เนื้อหาของเรื่องเลยมีความซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเทียบชั้นเชิงการวางบทของคุณป้ายาสุโกะแล้ว ซีรี่ส์นี้ถือว่าไม่ค่อยโดดเด่นมากนักถ้าหากเทียบกับผลงานการเขียนบทในเรื่องที่ผ่านๆ มา 

ทคคิวเจอร์มีการวางพล็อตตัวละครแบบง่ายๆ ที่สามารถตัดสินได้ด้วยการมองจากบุคลิคภายนอก (ซึ่งก็เป็นพื้นฐานของหนังแปลงร่างอยู่แล้ว) ไรโตะที่ดูเป็นพวกขาลุย โทคัทจิที่ดูซุ่มซ่าม มิโอะที่ดูเป็นพี่สาวของทุกคน ฮิคาริที่ดูเป็นผู้เป็นคนที่สุดในทีม คางูระที่ดูง๊องแง๊ง รวมไปถึงอากิระที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดและดูจะหลุดๆ ในบางเวลา ด้วยองค์ประกอบตัวละครที่สร้างมาเป็นสูตรนี้ก็ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็กได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ทว่าไอ้ความที่เข้าถึงง่ายเกินไปนี่ล่ะครับ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยน่าติดตามซักเท่าไหร่ ส่วนตัวประกอบอื่นๆ ก็มีหน้าที่เป็นตัวประกอบอย่างเดียวจริงๆ พี่ท่านไม่มีการกล่าวถึงหรืออ้างอิงอะไรให้เราฮือฮาได้เลยแม้แต่น้อย (ไม่รู้ว่าขี้เกียจลากประเด็นออกไปหรือยังไง?)

การดำเนินเรื่องในสไตล์ของ “ยาสุโกะ โคบายาชิ” ก็ยังคงรูปแบบของคุณป้าไว้เช่นเดิม กับการเอาปริศนาก้อนใหญ่ๆ วางไว้ต้นเรื่อง จากนั้นก็ทยอยคลายออกทีละจุด และไปหนักอีกทีเอาในช่วง 10 ตอนท้ายๆ จากนั้นก็ปิดเรื่องด้วยความสวยงาม ถึงแม้สไตล์การเล่าเรื่องจะจำกัดให้อยู่ในรูปแบบง่ายๆ จนดูน่าเบื่อ แต่ถ้าหากติดตามมาโดยตลอดก็ถือว่าทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว จะเสียก็ตรงที่บางจุดมีการเล่าเรื่องที่ขาดแรงกระตุ้นไปหน่อย ไม่ค่อยมีอะไรทำให้รู้สึกตื่นเต้นแบบสุดๆ มากมายนักถ้าใครที่ไม่ได้ติดตามมาโดยตลอดอาจจะถึงกับเลิกดูไปเลยก็มี

แต่ทว่าความน่าสนใจของเรื่องกลับไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายพระเอกครับ กลับเป็นความขัดแย้งภายในองค์กรของพวกชาโดว์มากกว่า น่าเสียดายที่ตัวละครเกือบทุกตัวในกลุ่มนั้นเป็นตัวละครที่เล่นด้วยชุดมอนสเตอร์ ทำให้การแสดงอารมณ์นั้นตกเป็นศูนย์ในทันที โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าใช้คนแสดงจริงๆ จะเข้าถึงอารมณ์กว่านี้เยอะ แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะเรื่องปมความขัดแย้งของตัวละครแล้วนับว่าทำได้ดีเลยทีเดียว (เนื้อหาก็ไม่มีอะไรมาก ก็แค่เสด็จแม่ “มาดามนัวร์” บังคับลูกสาว “กริต้า” ให้แต่งงานกับจักรพรรดิ์มืด “เซ็ท” แต่ลูกสาวไม่เอาเพราะตัวเองรักนายพล “ชวาทซ์” มากกว่า สุดท้ายการแต่งงานนี้ถูกจัดขึ้นมาเพื่อยึดอำนาจ แต่ด้วยความเทพของจักรพรรดิ์ทำให้แผนของเสด็จแม่พังไม่เป็นท่า ส่วนนายพลก็รู้ใจตัวเองว่าต้องสู้เพื่อใคร และเรื่องทั้งหมดก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรม … นี่มันละครหลังข่าวเรอะ!?)

และความน่าสนใจอีกอย่างก็คือขบวนการนี้ถือว่าเป็นเรื่องแรกที่มีการครอสโอเวอร์เพื่อเปิดทางไปยังหนังใหญ่อย่าง Heisei Rider VS Showa Rider : Kamen Rider Taisen แม้จะดูไม่ใช่องค์ประกอบหลัก แต่ตอนพิเศษที่ว่าก็ถูกนำไปขายแยกต่างหากได้อีกที ก็นับว่าเป็นการลองตลาดแบบใหม่ของทางโตเอะเค้านั่นแล คิดว่าต่อไปคงจะมีการครอสโอเวอร์แบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ล่ะครับ


สิ่งที่ดูสะดุดตาที่สุดในเรื่องอีกอย่างก็คงจะเป็นฝ่ายคอสตูมของพวกชาโดว์ที่บอกได้ว่าจัดเต็มเกือบทุกตอน ดูแล้วถึงกับอุทานในใจเลยว่าค่าชุดของมอนสเตอร์ที่ออกมาให้พวกพระเอกอัดนั้นใช้เวลาออกแบบมากกว่าชุดแปลงร่างของทคคิวเจอร์ซะอีก -*- อ่อ … ซีรี่ย์นี้ก็ได้รับรางวัลนะเออ แต่ไม่ใช่รางวัลจากการแสดงอะไรหรอกนะ แต่เป็นรางวัล “ซีรี่ย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการคมนาคมดีเด่นแห่งปี” จากการทางรถไฟแห่งญี่ปุ่นเลยเชียวล่ะ เพราะท้ายตอนจะมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับรถไฟท้องถิ่นมาให้เด็กๆ ชมกันด้วย เท่าที่ดูมาก็เกิน 100 ขบวนครับ เยอะกว่าประเทศเราอีกน่อ (T__T)

สรุป :

ทคคิวเจอร์มีเนื้อหาที่ค่อนข้างดีครับ มองภาพกว้างๆ คือการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก 5 คนนั่งรถไฟตามหาบ้านตัวเอง หรืออาจจะเป็นการสื่อถึง “รถไฟของคนญี่ปุ่น” ที่เด็กๆ มองว่ามันคือพาหนะที่จะพาเราไปสู่ความสุข คือพาหนะที่พาเราไปหาครอบครัว รวมไปถึงพาหนะที่พาพวกเราไปยังการผจญภัยใหม่ๆ แต่ถึงกระนั้นการเล่าเรื่องนั้นขาดความน่าตื่นเต้นไปหน่อย แฟนๆ หนังแปลงร่างส่วนมากอาจจะเลิกดูเพราะการออกแบบไปเลยก็มี ถ้าหากติดตามกันจริงๆ จังๆ แล้วก็ถือว่าเป็นซีรี่ย์ที่สนุกเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ ผสานกับวัฒนธรรมรถไฟที่ผูกเข้ากับหนังแปลงร่างได้อย่างลงตัว ทำให้การเข้าถึงผู้ชม (ในญี่ปุ่น) ทำได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก แต่บ้านเราคงยากนิดหน่อย เพราะบ้านเราไม่ค่อยได้สัมผัสวัฒนธรรมรถไฟอะไรมากมายขนาดนั้น … พูดแล้วก็อิจฉาเค้าเนอะ บ้านเรารอถนนลูกรังให้หมดไปก่อนละกัน ฮือ ๆ ๆ ๆ 

จุดเด่น :
– เป็นการสร้างธีมใหม่ แหวกแนวด้วยเนื้อหาและคอนเซปท์
– มีภาพความสดใสสูง สีสันแปลกตาโดนใจกลุ่มเด็กๆ
– การเล่าเรื่องแบบเส้นตรงง่ายๆ ไม่มีพล็อตหักมุมอะไรให้ปวดหัว
– สาระเกี่ยวกับรถไฟท้องถิ่นในญี่ปุ่นช่วงเพลงปิด 

จุดด้อย :
ดีไซน์ตัวละครไม่ค่อยโดนใจแฟนๆ กลุ่มใหญ่ซักเท่าไหร่นัก
– ขาดแรงดึงดูดและความน่าตื่นเต้นในการเล่าเรื่อง บางช่วงดูเวิ่นเว้อจนน่าง่วงนอนสุดๆ

ปล. เกร็ดเสริมนิดๆ หน่อยๆ ครับ
1. เป็นเซนไตเรื่องที่ 2 ที่เอาสีส้มมาใช้อย่างเป็นทางการ (เอาที่ปรากฏในเรื่องเลยนะ / เรื่องแรกคือ Battle Fever J)
2. ด้วยจำนวนตอนฉาย 47 ตอนจบ ก็อยู่ในอันดับที่ 2 ของเซนไตซีรี่ย์ที่มีจำนวนตอนฉายสั้นที่สุด
(อันดับที่ 1 คือ  JAKQ จำนวน 35 ตอน)
3. เป็นเซนไตเพียงไม่กี่เรื่องที่พวกทคคิวเจอร์ไม่เคยฆ่าบอสระดับสูงในตอนปรกติได้เลย (เชือดกันเองตายหมดครับ)
4. ชื่อของตัวละครทั้ง 5 คนมาจากชื่อของขบวนรถด่วนพิเศษในญี่ปุ่น
5. ที่เรสฉะทุกคันจะมีเลขกำกับไว้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคือรหัสจริงๆ ของรถต้นแบบที่ถูกนำมาใช้ออกแบบเรสฉะในเรื่อง (เคยลงไว้นานมากละฮะ ถ้าหาเจอจะเอามาแปะให้)