เอาจริงๆ พวกนักร้องวัยรุ่น หรือทีนไอดอลเนี่ย เขามีกันมาตั้งแต่สมัยคุณแม่ยังสาวแล้วล่ะ ถึงจะมีเยอะ แต่ค่ายเพลงที่ส่งนักร้องประเภทนี้ออกตลาดก็แทบจะนับหัวได้ อย่างน้อยก็มีค่ายใหญ่ และก็ค่ายเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับตลาดแนวนี้อยู่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไป เข้าสู่ยุคที่ไอดอลสไตล์ญี่ปุ่นเริ่มบูม ปี 2017 สองบริษัทใหญ่(พอสมควร)ด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ได้เปิดออดิชั่นหญิงสาวที่มีความฝันจะเป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปสุดคาวาอี้ จนกลายมาเป็นสองวงไอดอลอย่าง BNK48 และ Sweat16 ที่มาพร้อมกับคัลเจอร์ที่ผู้บริโภคไม่เคยเจอในทีนไอดอลกลุ่มไหนในไทย ไม่ว่าจะต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ถ่ายรูปคู่ หรือซื้อแผ่นซีดีราคา 300 กว่าบาทเพื่อให้ได้บัตรเข้าไปจับมือเพียงแค่ 8 วินาที ไปจนถึงซื้อรูปถ่ายราคาใบละ 50 บาทมาเก็บสะสม แถมบางทียังขายต่อได้หลายแสน ทั้งๆ ที่สมัยนี้ แค่เปิดกูเกิ้ลก็สามารถดูรูปสาวน้อยอันเป็นที่รักได้แล้ว
พอมาปี 2018 หลังจากที่เพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของ BNK48 ดังเป็นพลุแตก จนได้ยินแทบทุกหนแห่ง แม้กระทั่งในผับ ก็ได้มีผู้คร่ำหวอดด้านเอนเตอร์เทนเมนท์อีกหลายราย ที่แม้จะไม่ได้ใหญ่เท่ากับสองบริษัทที่นำร่องไปก่อนแล้ว แต่ก็ได้เล็งเห็นว่า ศิลปินไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปมันขายได้ คนยอมรับในระดับหนึ่ง จึงได้เฟ้นหาหญิงสาวมาเดบิวท์กับเขาบ้าง ซึ่งก็มีทั้ง 7th Sense ที่มีแนวทางไม่ญี่ปุ่นจ๋าเท่าสองวงก่อนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะตัวเพลงกับลุคของสมาชิก และไม่นาน ทีมงานบางส่วนของวงนี้ก็แยกไปเปิดอีกวงในชื่อ Secret 12 ซึ่งลุคของสมาชิก(ในรุ่นแรกสุด)จะมีความหลากหลาย มีทั้งญี่ปุ่นจ๋าและไม่จ๋า หรือจะเป็นในส่วนของออแกไนเซอร์ที่คร่ำหวอดด้านการเชิญไอดอลกรุ๊ปจากญี่ปุ่นมาทำการแสดงที่เมืองไทยอยู่แล้วอย่าง Siamdol ก็ได้เปิดตัววงที่ชื่อว่า SiamDream ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นแค่วงพิเศษ ที่นำตัวแทนสมาชิกจากวงไอดอลญี่ปุ่นและไทยมาฟอร์มทีมกัน
หรือจะเป็นในส่วนของบุคลากรที่มีชื่อด้านดนตรีอยู่แล้ว อย่างคุณโต นราธิป ปานแร่ โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงที่ทำเพลงให้กับเหล่าเดอะสตาร์ และกามิกาเซ่รุ่นหลังๆ ก็ได้เข็นเหล่าบรรดาสาวๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันล้นเหลือ พร้อมกับชื่อกลุ่มน่ารักๆ ว่า CmCafe และคุณเหลิม เฉลิมพล สูงศักดิ์ นักร้องนำวง Seal Pillow และ Gym and Swim ก็มาพร้อมกับวงไอดอลลุคเท่ห์ๆ กับดนตรีซินธ์ป๊อปและเพอร์ฟอร์แมนซ์อันเป็นเอกลักษณ์ในชื่อ Fever ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีไอดอลคอนเซปต์แปลกๆ ไม่ว่าจะแปลกที่แนวคิดอย่าง Dev Zero ที่รวบรวมเด็กสาวที่ผิดหวังจากการออดิชั่นเข้าวงต่างๆ เพื่อให้โลกได้เห็นพวกเธอมากขึ้น SY51ที่รวบรวมเด็กสาวผู้รักในการเป็นไอดอลในภาคเหนือของประเทศ หรือแปลกที่ธีมอย่าง Akira-Kuro ที่มาแนวโหด ทั้งดนตรีที่ร็อคจัดจ้าน และหญิงสาวหัวขบถทั้งหลาย Amuse ที่เปิดกว้างให้เพศทางเลือกที่มีใจเป็นหญิงมาเป็นส่วนหนึ่งของวง
และพอมาถึงปี 2019 เท่านั้นแหละ โอ้โห… สารพัดวงพากันเดบิวท์ออกมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งทีมเบื้องหลังแต่ละวงก็มีเลเวลของประสบการณ์ทางดนตรีที่หลากหลาย แต่ถึงกระนั้นมันก็เยอะมากๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเลย ผุดซะจนแบบ คงรันวงการให้ทุกวงไม่ได้แล้วว่ะ ไม่งั้นล้มละลายแน่นอน และนอกจากปีนี้จะมีไอดอลเดบิวท์ให้เหล่าโอตะได้เสพผลงานและความน่ารักกันมากมายให้โอเวอร์โดสกันไปข้างแล้ว สนามรบที่ชื่อว่าวงการไอดอลก็ได้เปลี่ยนไปมากมาย ซึ่งถ้าให้ผมสรุปก็น่าจะประมาณนี้….
“ไอดอลเยอะขึ้น พื้นที่โชว์ตัวก็ค่อยๆ มากขึ้น”
สิ่งแรกที่ผมคิดเลยเมื่อได้เห็นสารพัดวงไอดอลผุดขึ้นมามากมายขนาดนี้ก็คือ “แล้วจะมีงานแสดงรองรับพวกนางมั้ยเนี่ย?” เพราะด้วยอะไรหลายๆ อย่าง มันทำให้ศิลปินเพลงแนวๆ นี้มีพื้นที่แสดงไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ว่าจะด้วยสไตล์และระดับความนิยมเมื่อเทียบกับศิลปินทั่วไป แถมกว่า 70% ของงานแสดงที่ศิลปินทั่วไปเขาได้กันนั้น ล้วนแต่อยู่ผับ ในพื้นที่ที่เขาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคงดูไม่งามเท่าไหร่ถ้าให้พวกนางไปร้องเต้นดึกๆ ดื่นๆ ท่ามกลางคนที่อาจจะสนใจแค่แก้วเครื่องดื่มกับกับจานกับแกล้มบนโต๊ะ หรือสายตาที่อาจจะจ้องมาที่พวกเธออย่างหื่นกระหาย ไหนจะเรื่องที่ไม่ควรให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานหลัง 3-4 ทุ่มเป็นต้นไปอีก
ในเมื่อโอกาสที่พวกเธอจะได้เฉิดฉายนั้นมันโคตรจะจำกัดจำเขี่ย เพราะขนาดงานแสดงจำพวกอีเวนท์ตอนกลางวัน ถ้าจะจ้างไอดอลกรุ๊ปไปแสดงในงาน ตัวเลือกแรก(และอาจจะเป็นตัวเลือกเดียว)ในหัวของผู้จัด ก็คงจะหนีไม่พ้น BNK48 อยู่แล้วล่ะ คงไม่ดีต่อการประชาสัมพันธ์วงตัวเองแน่ๆ…
แต่สุดท้ายก็มีทีมออแกไนเซอร์บางส่วน ที่เขาอาจจะเล็งเห็นถึงปัญหานี้แหละมั้ง? จึงได้จัดงานอีเวนท์ให้เหล่าๆ ไอดอลได้ทำการแสดง พบปะโอตะโดยเฉพาะ ซึ่งก็มีทั้งทีม Idol Master ที่ได้ยึดพื้นที่หน้าฮอลล์ของไบเทคบางนา ในทุกๆ Mobile Expo เพื่อตั้งบูธและเวทีแสดงของวงไอดอลในชื่องาน Idol Expo หรือจะเป็นทีม JK Street ที่แต่ก่อนเขาก็จัดงานประกวดเต้นโคฟเวอร์ ก็ได้มีดึงวงไอดอลมาออกงานเพิ่ม จนกระทั่งได้จัดงานที่เป็นเน้นไอดอลเป็นหลักได้ในเวลาต่อมา(แต่ก็ยังมีวงโคฟเวอร์มาสร้างสีสันอยู่เหมือนเดิม) หรือแม้แต่ Siamdol เอง ไหนๆ ทางนั้นก็จัดคอนเสิร์ตไอดอลอยู่แล้ว พอทำวงของตัวเองปุ๊บ ก็เอาพวกนางมาเล่นในงานที่ตัวเองจัดซะเลย นี่ยังไม่นับรวมงานอีเวนท์ป๊อปคัลเจอร์ขนาดใหญ่ งานเทศกาลดนตรี ที่ต้นสังกัดของแต่ละวงจัดขึ้นมาเอง หรือบางทีก็ดึงวงอื่นมาแจมอีก และก็ยังไม่นับงานโชว์ตัวในงานรอบสื่อภาพยนตร์อีก
จากที่กังวลว่าพวกนางจะมีงานให้โชว์ตัวมั้ย? ก็ไม่กังวลละ ห่วงก็แต่กระเป๋าตังค์ตัวเองเนี่ยแหละ งานอีเวนท์ไอดอลเยอะมากกกกก!!! ประมาณเดือนละ 2-3 ครั้งได้อ่ะ กระเป๋าไม่ฉีกก็ให้มันรู้ไป ส่วนเรื่องงานอีเวนท์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับไอดอลนั้น ก็เริ่มมีการเรียกใช้บริการวงอื่นๆ บ้างแล้ว อย่าง SiamDream ก็ได้ไปเล่นงานกาชาด หรือ Ameryu ก็ได้ไปออกอีเวนท์ทำข้าวกล่อง หรือ Fever ที่เป็นวงที่เกิดขึ้นจากคนดนตรีสายอินดี้ ก็ได้ไปเล่นงานดนตรีที่เป็นสายนั้นอย่างสารพัดงานที่จัดโดย Cat Radio นั่นแหละ และถ้าแต่ละวงสั่งสมความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ BNK48 ก็คงจะไม่ใช้ตัวเลือกเดียวสำหรับผู้จัดอีกแล้วล่ะ
“ไอดอลสารพัดแนว จากสารพัดทีมงาน”
ในเมื่อผู้เข้าแข่งขันมันเยอะมาก การสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเวย์ไหนก็ตาม จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะนั่นจะทำให้เราเป็นที่จดจำไม่มากก็น้อย อย่าง Akira-Kuro งี้ ที่แนวเพลงเป็นร็อค ตอนแสดงเลยมีวงแบ็คอัพเล่นดนตรีสดให้(แม้ช่วงหลังๆ จะเปิด Backing Track แทน เพราะด้วยข้อจำกัดอย่างที่เห็น) ส่วนอีกวงที่เล่นดนตรีสดเหมือนกันก็ Melt Mellow แถมรายนั้นสมาชิกในวงเล่นกันเองด้วยนะ(แต่ก็มีบางงานเหมือนกัน ที่พวกนางโชว์เต้นแทน) นอกจากร้องเต้นเล่นดนตรี ก็คงไม่มีวงไหนอุตริโชว์กายกรรม หรือเอาดาบขึ้นไปรำบนเวทีหรอก(หรือใครคิดจะทำวงไอดอลที่มีโชว์แบบนี้ก็ไม่ว่ากันนะ รอดูเลย)
ในเมื่อรูปแบบการแสดงของไอดอลกรุ๊ปที่ถ้าไม่โชว์กายกรรมก็คงไม่แหวกแนวไปมากกว่านี้ สิ่งที่ทำให้แต่ละวงยูนีคได้ ก็คงเป็นเรื่องของ “คอนเซปต์” แล้วล่ะ เท่าที่เห็นก็จะมีวง Blissful ที่มาในคอนเซปต์สาวน้อยเวทมนตร์ เพลงก็จะออกแนวฟรุ้งฟริ้ง เมจิเคิ้ลหน่อยๆ หรือจะเป็น Black Dolls ที่มาในคอนเซปต์ไอดอลแห่งรัตติกาล เพลงก็… เท่าที่ฟังมันก็ดูเวียสดีนะ แถมชุดที่พวกนางใส่ก็จะออกแนวดาร์คๆ แฟนตาซีนิดๆ แถมเห็นล่าสุดมีกิจกรรมอะไรสักอย่างเนี่ยแหละ คล้ายๆ เกมแวร์วูฟ ธีมดูทะมึนดี และก็มีวง Wishdom อันนี้โปรโมทมาตั้งแต่ประกาศออดิชั่นละ ว่าจะเป็นไอดอลสายวิชาการ ฉลาด ผลการเรียนดี งานเรียนสำคัญกว่างานวง เป็นวงที่โอตะแทบจะสามารถแบกการบ้านไปปรึกษาพวกนางได้ในงาน ตอนที่เมมเบอร์เปิดตัวได้ไม่นาน ผมเห็นเพจเฟสบุ๊คสมาชิกคนนึง โพสต์เรื่องราววิชาการแบบยืดยาว แต่อ่านสนุก เข้าใจง่ายมาก เผลอๆ อาจจะเข้าใจง่ายกว่าบทความผมอีก แล้วก็… ไม่พูดถึงวงนี้ไม่ได้ครับ Granita ที่แม้ปีนี้จะยังเปิดตัวสมาชิกไม่หมด แต่เพียงแค่คอนเซปต์ไอดอลที่ถ่ายกราเวียร์ได้ ก็ทำให้ทุกสายตาจับจ้องกันอย่างถล่มทลายแล้ว(ผมก็ด้วย) วงนี้ผมไม่กังวลเรื่องเมมเบอร์ ไม่กังวลเรื่องจะขายกราเวียร์จนเกินไป เพราะคุณลูกปัดที่เป็นหนึ่งในสมาชิกก็เป็นหนึ่งในทีมงานด้วย กลัวก็แค่สังคมไทยบางส่วนที่ไม่ได้มองกราเวียร์เป็นเรื่องปกติเนี่ยแหละ นั่นก็ต้องสู้กันต่อไปแหละนะ
และไอดอลจะถือกำเนิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคนที่เปรียบเสมือน “เฮดหลัก” ของวง จะเป็นโปรดิวเซอร์ใหญ่ ฉะโจ นายทุน หรืออะไรก็ตามแต่ เรียกรวมๆ กันว่าเจ้าของวงละกัน เท่าที่ดู ตอนนี้มีหลายๆ คนที่เริ่มปั้นไอดอลมาลงสนามกันมากมาย แถมบางคนก็มีชื่อเสียงในวงการเพลงอยู่แล้ว อย่างเช่น พี่ก๊อป โปสการ์ด นักแต่งเพลงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบรรดาศิลปินค่ายกามิกาเซ่ ปัจจุบันแกมาทำค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อ Brickhouse (ซึ่งก็มีวง Gliss อยู่ในสังกัดด้วย) และยังได้ตั้งโครงการที่ชื่อ BHX เพื่อติวเข้มเด็กฝึกหญิงในการเป็นทีนไอดอล จนได้ออกมาเป็นวง RedSpin ซึ่งก็อุดมไปด้วยความน่ารักสดใส และน่าจับตามองไม่แพ้วงอื่นๆ ที่พี่ก๊อปเคยปั้นมาเลย ส่วนอีกเจ้าของวงที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน ผมยกให้พี่เก่ง ธชย เลย คนนี้ไม่ต้องพูดไรเยอะ ด้วยสารพัดรางวัลที่เขามี และด้วยอัตลักษณ์ที่แหวกแนวไม่เหมือนศิลปินไทยคนไหน แน่นอนว่า วงไอดอลของเขาคนนี้ต้องเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน จนได้มาเป็นสามสาว Tossagirls ที่มาพร้อมกับเอเนอร์จี้อันล้นเหลือ และแนวเพลงเมทัลที่แสนหนักหน่วง ผมจำได้เลย ตอนดูคลิปการแสดงที่มีคนถ่ายมาครั้งแรก โอ้โห! พลังล้นเหลือมาก เก่งสุดๆ แม้จะยังเด็กกันอยู่ก็ตาม นอกจากวงไอดอลคนไทยทำเองแล้ว บุคลากรจากญี่ปุ่นต้นตำหรับแห่งวงไอดอลยังข้ามน้ำข้ามทะเลมาปั้นวงไอดอลไทยกับเขาด้วย อย่าง mint Music ENTERTAINMENT ก็ทำวง Ameryu ซึ่งเพลงทำโดยทีมงานญี่ปุ่น(แต่คนแต่งเนื้อร้องภาษาไทยก็ต้องเป็นคนไทยแหละ) ผมฟังแล้วติดหูดี หรืออีกวงอย่าง Sumomo ที่มีศักดิ์เป็นวงน้องของไอดอลกรุ๊ปญี่ปุ่นที่ชื่อ Festive ก็ดูแลโดย UPDDANCE ENTERTAINMENT ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างโปรดิวเซอร์ของ Festive และ ผู้ก่อตั้งวง Akishibu Project เนี่ยแหละ
แม้ว่าจำนวนวงไอดอลในท้องตลาดจะเยอะแค่ไหน? แต่ถ้าหาอัตลักษณ์ของตัวเองเจอ ยังไงก็มีที่ยืนอยู่แล้ว และยิ่งมีทีมงานเบื้องหลังและเบื้องบนที่แข็งแกร่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยืนได้ยาวๆ เท่านั้น เผลอๆ ที่ยืนของพวกนางอาจจะกว้างขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
“วงแตก แบบไม่มีซากุระเบ่งบานบอกให้เตรียมใจ”
ก็เหมือนๆ กับทุกวงดนตรีในโลกแหละครับ ที่สักวันต้องถึงคราววงแตก แม้แต่วงไอดอลก็เช่นกัน ในขณะที่ปีนี้มีวงไอดอลเกิดใหม่ให้ได้ยลโฉมในความน่ารักกันมากมาย แต่ก็ยังมีวงไอดอลบางส่วนที่ต้องยุบวง ยุติกิจกรรมไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งก็ได้มีสองวงครับ ที่เหตุการณ์วงแตกนั้นได้รับความสนใจในหมู่โอตะมากๆ วงแรกก็คือ 7th Sense ที่จู่ๆทางเพจวงก็ได้ประกาศว่าจะยุติการทำกิจกรรมอย่างถาวร โดยที่เหล่าสมาชิกบางส่วนก็รู้พร้อมๆ กันเนี่ยแหละ และยิ่งเกือบครึ่งวันข้างหน้าพวกเธอมีงานแสดงอีกด้วยนะ ขวัญเสียทั้งแฟนๆ ทั้งสมาชิกเลย แต่สุดท้าย พวกเธอทั้ง 17 คนก็ได้ทุ่มเทให้กับการแสดงที่เหลืออยู่จนจบอย่างสวยงาม แถมเพลงทั้งสี่เพลง ที่ครูจ๊อบหมายมั่นจะพรีเซนต์ผ่านน้องๆ เหล่านี้ ก็ได้ส่งมาถึงหูคนฟังอย่างครบถ้วน (แม้ว่าเพลงสุดท้ายอย่าง “ฝันของเรา” จะไม่มีให้ฟังนอกจากในแฟนแคมที่เขาถ่ายกันก็เถอะ)
ส่วนอีกวงก็คือ Black Forest ครับ วงไอดอลที่มีเพลงร็อคติดหู แถมยังมาพร้อมกับจุดขายอย่าง การให้เวลาสาวๆ ทั้ง 18 คน ฝึกซ้อมทั้งในห้องซ้อมและเวทีจริง พร้อมกับให้แฟนๆ โหวต เพื่อหา 9 คนที่จะได้เป็นตัวจริง ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งหลังจากที่ได้ตัวจริงครบ ก็ซุ่มเก็บตัวเพื่อเดบิวท์จริงๆ การทำงานทุกอย่างก็ต้องยุติลง ก่อนงานเดบิวท์ยังไม่จัดด้วยซ้ำ สาเหตุก็มาจากทรรศนะของโปรดิวเซอร์หลักและสมาชิกทั้งเก้าคนที่ไม่ตรงกัน จนนำมาสู่การแยกทางในครั้งนี้ หลงเหลือไว้เพียงข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินที่แฟนๆ เขาโหวตกัน ว่ามันไปลงเอยที่ไหน? (แต่เห็นทางโปรดิวเซอร์เขาก็ออกมาชี้แจงแล้วนะ)
ผมว่าสองเคสนี้มันเป็นอะไรที่สะเทือนใจมาก เพราะทั้งคู่ต่างก็มีความโดดเด่น และศักยภาพเพียงพอที่จะสู้ในวงการนี้ อย่าง 7th Sense ที่เริ่มหลังสองวงนั้นไปนิดหน่อย ก็กำลังไปได้สวย มีฐานแฟนคลับที่แข็งแรงแล้ว ส่วน Black Forest ก็ทำเพลงดี แถมยังมีสมาชิกที่ทีมงานและแฟนๆ ต่างลงมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่าดีที่สุด อาจจะฟังดูน่าเศร้าไปสักหน่อย ทั้งกับตัวทีมงานและน้องๆ แต่ผมเชื่อว่ายังไงซะ ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ
นอกเหนือจากสองวงนี้แล้ว ก็ยังมี… เท่าที่ผมจำได้ก็มี Taste of Love ที่ตอนแรกสมาชิกออกเกือบยกวง ก่อนจะค่อยๆ วงแตกจริงๆ และก็มีที่คล้ายๆ วงแตก แต่ก็ไม่ใช่ อย่าง Blissful ที่มีการปรับโครงสร้างในวงใหม่ และก็อนุญาตให้สมาชิกบางส่วนถอนตัวออกไปด้วยความสมัครใจ ก่อนจะรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อวงว่า Sugar Piu ส่วนวง Secret 12 นั้น สมาชิกที่ออดิชั่นกันมาในครั้งแรกถอนตัวออกไปจนเกือบหมด (เหลือแต่มายเลิฟ) แต่โชคยังดีที่มีเทรนนีคอยประคับประคองให้ชื่อวงยังอยู่ต่อไปได้
“มหกรรมย้ายวงครั้งใหญ่”
นี่วงไอดอลหรือทีมฟุตบอล? มีการย้ายไปย้ายมาด้วย? ถ้าให้ผมไล่ว่ามีใครย้ายจากวงไหนไปวงไหนบ้าง? ผมว่ายาวอ่ะ เผลอๆ ผมอาจจะรู้ไม่หมดด้วยซ้ำ แต่การย้ายบ้านของแต่ละนาง ผมเชื่อนะว่าหลายคนอาจจะมีข้อครหาถึงน้องบางคนประมาณว่า “ไหนบอกออกจากวงไปเรียน/เพราะสุขภาพไม่แข็งแรงไง แต่ไหงมาอยู่วงใหม่ซะล่ะ” จนพาลให้เกลียดน้องไป แต่ในมุมมองของผมนะ เราก็ไม่รู้ลึกตื้นหนาบ้างอะไรมากหรอก ผมว่ามันมีดีเทลที่ผู้เกี่ยวข้องเขาไม่อยากให้คุณรู้ หรือไม่เป็นประโยชน์ที่จะบอกออกสื่อ ดังนั้นก็ช่างมันเถอะครับ ถ้าชอบเขาก็ติดตามเขาอย่างมีความสุขกันดีกว่า
แต่ที่แน่ๆ ผลพวกจากสารพัดวงที่ยุบไปในข้อที่แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคนจะเป็นเหล่าเมมเบอร์ ที่เหมือนฝันสลายไปในพริบตา แต่อย่างที่ภาษิตฝรั่งว่าเอาไว้นะครับ ข้างในเมฆทุกก้อนมีแร่เงินซ่อนอยู่ พวกเธอบางส่วนที่ยังมีฝันอยากจะเป็นไอดอลอยู่จึงได้พยายามออดิชั่นเป็นไอดอลกับวงอื่น บางคนโชคดีอาจได้รับการติดต่อจากต้นสังกัดโดยตรงเลย อย่างครูพิม ที่เคยเป็นครูสอนร้องเพลงและผู้จัดการวง 7th Sense หลังจากที่วงนั้นประกาศยุบ เธอก็ได้ทำวงใหม่ในชื่อ “Daisy Daisy” พร้อมกับดึงสมาชิกบางส่วนจาก 7th Sense มาอยู่ในวง แต่ก็มีอดีตสมาชิกบางส่วนเช่นกันที่ไปวงอื่น เช่น เวเฟอร์กับอัลตร้าไปอยู่วง VioletWink แพรวเล็กไปอยู่วง ShiningStars
ส่วนน้องๆ จาก Black Forest นั้น ส่วนมากก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่กลับมาเป็นไอดอลแล้ว ทั้งยุ้ย ที่ไปอยู่ ShiningStars เช่นกัน ซาตังก็ไปอยู่วง Black Dolls กุญแจตอนนี้เป็นเด็กเทรนของฝั่ง ReSweet หรือแม้กระทั่งที่ 1 และที่ 2 ของการแข่งขันอย่างแฟนนี่กับรูบี้ ที่ได้ไปอยู่กับวงไอดอลในการดูแลของ Siamdol เลยนะ อย่างแฟนนี่ก็ได้รับไม้ต่อจากการเป็นเมมเบอร์สีม่วงของ SiamDream จากนิโกะ ส่วนรูบี้ก็ได้ไปอยู่กับวง Ameryu ซึ่งเป็นวงที่ทำโดยทีมงานญี่ปุ่น(แต่ Siamdol เป็นคนดูแล)
ในส่วนของสมาชิก Secret 12 รุ่นบุกเบิกนั้น ที่ประกาศออกจากวงพร้อมกัน 6-7 คนเมื่อกลางปี พวกเธอก็ได้รวมตัวกันทำวงใหม่ในชื่อ WhiteOut และนอกเหนือจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่ทั้งเคยมีวงแล้วและยังไม่เคยมี ได้กำลังหา “บ้านที่ใช่” ในวงการไอดอลของพวกเธออยู่ บ้านที่มีดีไซน์ กฎระเบียบ(และอาจจะรวมถึงค่าขนม)ในแบบที่เธอต้องการ ถ้าเข้าวงการนี้ปุ๊บแล้วเจอปั๊บมันก็ดีล่ะเนอะ แต่ถ้าเข้าไปในบ้านหลังแรกแล้วมันไม่ใช่ และอยากออกไปอยู่หลังอื่น มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกเนอะ
“สองวงกำลังดี”
สำหรับบางเจ้า ทำไอดอลวงเดียวอาจไม่พอ งั้นทำมันสองวงไปเลย หลายคนเห็นแล้วอาจจะคิดว่า นี่นายทุนเขาอยากกอบโกยขนาดนั้นเลยเหรอ? ก็ไม่ขนาดนั้นหรอก จริงอยู่ที่การทำสองวงนั้นอาจจะทำรายได้สองเท่า แต่ก็ต้องแลกมากับการแบกรับค่าใช้จ่ายสองเท่าด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะทำสองวง ทั้งสองวงก็ควรมีคอนเซปต์ แนวทาง หรือกลุ่มทาร์เก็ตที่แตกต่างกัน(เพราะถ้าดันเหมือนกันทั้งสองกลุ่ม ยุบรวมกันเป็นวงเดียวไม่ดีกว่าเหรอ?)
อย่าง CmCafe งี้ คือเขาบอกว่าชื่อวงคือ CmCafe แต่แบ่งทีมกันเป็นยูนิตต่างๆ เป็น Honey Toast, FMA Parfait, Daifuku อาฮะ แต่ความรู้สึกผมนะ ผมว่าสามวงนี้ดูเป็นเอกเทศน์มากเลย เพราะด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันล่ะมั้ง? ถ้าบอกว่า CmCafe เป็นชื่อค่ายและปั้นไอดอลมาแล้วสามวง ผมก็เชื่อนะ(ชื่อค่ายจริงๆ ของเขาคือ Cm Entertainment เน้อ) แต่เห็นว่าเปิดรับคนเพิ่ม และจะทำยูนิตใหม่โดยผสมคนในยูนิตเก่าเข้าไปด้วย โอเค ยังดูมีความเป็นยูนิตอยู่ และก็เห็นว่าเจ้านี้เป็นคนทำวงไอดอลสายกราเวียร์อย่าง Granita ด้วย แต่เป็นเอกเทศน์ ไม่เกี่ยวอะไรกับ CmCafe เลยแม้แต่น้อย
ในส่วนของเจ้าอื่น เขาก็มีการปั้น “วงน้องสาว” ออกมาเพิ่มแบบเป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างครูพิม นอกจากจะมี Daisy Daisy ที่เป็นแนวหวานๆ คุณหนูๆ แล้ว ยังมีอีกวงที่เป็นแนวสปอร์ต เท่ๆ อย่าง Aster ซึ่งก็เพิ่งออดิชั่นไป หรือจะเป็นคนที่ทำ SY51 ที่ชูภาพลักษณ์ว่าเป็นไอดอลภาคเหนือ เขาก็มีวงไอดอลที่มีคอนเซปต์และทาร์เก็ตที่แตกต่างกันอย่าง VioletWink เพิ่มมาอีกวง หรือค่าย REN Entertainment ก็มีทั้ง Melt Mellow ที่เป็นไอดอลสายเล่นดนตรี และ ShiningStars ที่เป็นไอดอลสายร้องเต้น(แต่การแบ่งสีและสไตล์เพลง สารภาพเลยนะ ได้ฟีล LoveLive! มากอ่ะ) ฝั่งของ Yoshimoto Entertainment ที่ทำ Sweat16 เขาก็เพิ่งเปิดตัวเทรนนีไป แต่จะได้เดบิวท์ในนามของ Sweat16 รุ่นสองหรือวงใหม่ ต้องรอดูกัน(แต่ใจจริงอยากให้เป็นแบบหลัง) หรืออย่าง iAM ของคุณต้อม จิรัฐ ที่ทำ BNK48 ก็เปิดวงน้องสาวเพิ่มอีกวง เพื่อเน้นโปรโมทในภาคเหนืออย่าง CGM48
มาดูฝั่งของ Siamdol กันบ้าง หลักๆ วงไอดอลที่พวกเขาดูแลตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ มีแค่สองวงเท่านั้นคือ Love Letter กับ SiamDream แต่ก็มีอีกสองวงที่ทำเพลง วางคอนเซปต์โดยทีมงานญี่ปุ่น แต่เรื่องการโปรโมทยกให้เป็นหน้าที่ของทาง Siamdol นั่นก็คือ Ameryu และ Sumomo นั่นเอง พูดง่ายๆ คือ Siamdol มีวงในการดูแลถึง 4 วง!! ซึ่ง 4 วงก็มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนอยู่นะ… แถมพี่ดลลี่ เจ้าของ Siamdol ก็ไลฟ์เผยไต๋บางส่วนของปีหน้ามา พี่แกบอกว่า 4 วงนี้มีโอกาสที่จะได้ออกงานด้วยกันบ่อย แต่อาจจะไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตอย่างเดียว อาจจะรวมไปถึงงานออฟไค(กินข้าวด้วยกัน) และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่แน่ๆ มีงานรวมไอดอลที่ทางนั้นจัดเองในช่วงต้นมีนาแล้ว บอกเลยมันส์แน่นอน
เอาจริงๆ มันก็ไม่สำคัญหรอกนะว่า พวกเขาจะทำเพิ่มกันอีกกี่วง ถ้าพวกเขาวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละวง ต่อให้จะทำวงไอดอลซัก 10 วงก็ขายได้สบายๆ อยู่แล้ว แต่ที่ไม่สบายคงจะเป็นโอตะสายรันวงการ ที่ต้องกระเป๋าฉีกกันไปข้าง
โอเค หมดปี 2019 เข้าสู่ 2020 ที่ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีวงไอดอลเกิดใหม่หรือตายจากเพิ่มอีกกี่วง? ตลาดไอดอลจะยังกว้างกว่านี้ได้มั้ย? วงอื่นๆ ที่ไม่ใช่สองวงนั้นจะสามารถตีตลาดนักฟังเพลงกลุ่มอื่นได้หรือเปล่า? คงต้องรอดูกันต่อไป ยังไงก็เป็นกำลังใจให้กับทีมงานและเหล่าสาวน้อยทุกคนที่มายืนตรงจุดนี้ด้วย(หรือสาวน้อยบางคนที่มีฝันจะก้าวไปสู่จุดนี้) ขอให้ทำเพลงดีๆ ผลงานดีๆ ออกมาอย่างมีความสุข ส่วนโอตะทั้งหลาย รักใครชอบใครอย่าลืมสนับสนุน ไปให้พวกเธอเห็นหน้าบ้าง เพราะจากประสบการณ์ของผมนะ เราอาจจะไม่รู้เลยเว้ย ว่างานไหนจะเป็นงานสุดท้ายของพวกเธอ ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าโอชิของคุณจะกลับมาเป็นไอดอลอีกครั้ง ถ้ามีเวลา มีเงินเหลือ ก็ไปถ่ายเชกิพวกนาง ไปพูดคุย ไปแสดงตัวให้เขารู้ว่า เราเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ ให้เขามีกำลังใจต่อสู้กับสมรภูมิไอดอลที่แสนโหดร้ายนี้ต่อไป