ทาคาเทระ ชิเกโทริ… ผู้สร้าง, ผู้ทำลาย หรือแพะรับบาป

30 มกราคม คาเมนไรเดอร์คูกะ (2000) และคาเมนไรเดอร์ฮิบิกิ (2005) ออกอากาศเป็นตอนแรกครับ

ความบังเอิญเรื่องวันฉายไม่ได้จบแค่นั้น แต่ทั้งสองเรื่องต่างมีโปรดิวเซอร์คนเดียวกัน, มีการวางแผนที่จะฉีกแนวไปจากเดิมทั้งสองเรื่อง และประสบปัญหา “บางอย่าง” คล้าย ๆ กัน

ในโอกาสที่ครบรอบการออกอากาศครบ 20 ปี และ 15 ปี ของสองซีรีส์ หลายคนอาจจะนึกถึงพระเอกในมาดอบอุ่นอย่างโกได หรือฮีโร่ที่พึ่งพาได้อย่างฮิบิกิ แต่เราจะพาคุณไปรู้จักกับผู้ชายคนนี้ครับ คนที่เกลี้ยกล่อม “โอดากิริ โจ” ให้ยอมรับในบทของคูกะได้ คนที่สร้างตำนานการเปิดเรื่องราวของเฮเซไรเดอร์จนทุกคนยอมรับและเบิกทางมาจนถึงยุคเรวะ และเป็นคนเดียวกับที่ทำให้คาเมนไรเดอร์ฮิบิกิเกิดปัญหาจนตัวเองต้องลาออกจากโตเอะไปตลอดกาล

“ทาคาเทระ ชิเกโทริ”

————————————-

โอดากิริ โจ

ก้าวแรกไม่เป็นอะไร :

คุณทาคาเทระจบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ (มหาลัยนี้นักแสดงโทคุฯ เรียนกันเยอะดีวุ้ย ยกตัวอย่าง อิเกตะ ฮิโรเอะ/วัลคีรี หรือ โอคาดะ ริวทาโร่/วัลแคน ก็เรียนที่นี่) และเข้าทำงานกับโตเอะปี 1986 ก่อนจะได้เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ให้กับซีรีส์ “คาเมนไรเดอร์แบล็ค” ในปี 1987

หลังจากนั้นก็มีส่วนร่วมในซุปเปอร์เซนไตซีรีส์หลายเรื่อง อย่างเช่นคาคุเรนเจอร์ / คาร์เรนเจอร์ / เมก้าเรนเจอร์ กระทั่งปี 1999 บริษัทผู้ผลิตของเล่น BANDAI ขอให้โตเอะสร้างคาเมนไรเดอร์ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปเกือบ 10 ปี

ทาคาเทระถูกวางให้เป็นโปรดิวเซอร์หลัก ในช่วงของการวางคอนเซปท์นั้น เค้าได้โยนทิ้งแนวคิดเดิมของคาเมนไรเดอร์ทิ้งไปเกือบทั้งหมด คงไว้แต่จิตวิญญานตามที่ อ.อิชิโนะโมริ โชทาโร่ ได้ตั้งเอาไว้ นั่นคือแก่นของ “ความเป็นผู้เสียสละ ยิ้มให้กับทุกคนได้แม้ตนเองต้องแบกรับเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม”

แน่นอนว่าก้าวแรกนั้นไม่มีใครที่มั่นใจเลยสักคนว่าซีรีส์นี้จะไปรอด แต่เพราะการคิดใหม่ทำใหม่ ประกอบกับผู้ชมที่เริ่มเปิดใจหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษใหม่ คาเมนไรเดอร์คูกะจึงถูกสร้างออกมาเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่แฟน ๆ ต่างทดเอาไว้ในใจว่านี่คือซีรีส์ที่สามารถส่งต่อคำว่า “จิตวิญญานของไรเดอร์” ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด (ณ ช่วงเวลานั้น)

แม้จะมีปัญหาเรื่องการเลื่อยขาเก้าอี้บ้างเล็กน้อย รวมไปถึงการ “ผลาญงบถ่ายทำ” แบบเล่นใหญ่อลังการงานสร้าง แต่เมื่อเทียบกับผลตอบรับแล้วก็ถือว่าพอให้อภัยได้

อันนี้สาระ – ฉากต่อสู้ในคูกะตอนที่ 2 (ฉากแปลงร่างครั้งแรก มีการเผาโบสถ์ในฉาก) ว่ากันว่าใช้งบประมาณในการถ่ายทำไปเกือบ 30% ของเรื่องเลย … แพงค่าซ่อมนั่นล่ะ พี่เล่นเช่าสถานที่จริงแล้วจุดไฟจริง ค่าซ่อมก็บานสิครับ

TOEI ไม่ถูกใจสิ่งนี้



———————————–

ก้าวต่อไปไฟไหม้เหลือแต่กระดูกเชิงกราน :

ความชิหัยมันเริ่มจากตรงนี้ครับ … ปี 2004 คุณทาคาเทระได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์หลักของโทคุซัทสึซีรีส์เรื่องหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ชื่อคาเมนไรเดอร์ เพราะมีการคุยกันภายในบริษัทแล้วว่าฮีโร่คนใหม่จะไม่ใช่คาเมนไรเดอร์อีกต่อไปแล้ว เหตุเพราะกระแสของมันนั้นเริ่มลดลง ประกอบกับคู่แข่งในวงการหลายค่ายต่างผลักดันเอาโทคุฯ ซีรีส์ของตนออกมา เช่น โตโฮ/แกรนด์เซเซอร์, ทาคาระโทมี่/ริวเคนโด, โทโฮคุชินฉะ/กาโร่ เป็นต้น

แต่เพราะบารมีของ BANDAI อีกนั่นล่ะ ทำให้ฮีโร่คนใหม่ถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องเป็น “คาเมนไรเดอร์” เหมือนเดิม และในที่สุดก็ออกมาเป็นอสูรผู้ใช้เสียงในการต่อสู้ … คาเมนไรเดอร์ฮิบิกิ

ฮิบิกิมีเสียงตอบรับค่อนข้างดีครับ แต่เสียงที่ว่านั่นมาจากผู้ชมวัย 30+ ขึ้นไป รวมไปถึงแฟน ๆ ของพระเอกอย่างคุณ โฮโซคาว่า ชิเงกิ ที่ติดตามเค้าจากการเล่นซีรีส์นี้ กลับกันยอดจำหน่ายของเล่นดันเจ๊งไม่เป็นท่า แถมคุณทาคาเทระเองก็ขึ้นชื่อว่าเล่นใหญ่ไฟกระพริบอยู่แล้ว การถ่ายทำแต่ละตอนจึงสูญเสียงบประมาณไปค่อนข้างมหาศาล ไหนจะค่าเดินไปโลเคชั่นที่เป็นป่าในต่างจังหวัด หรือการอัด CG ของสัตว์ยักษ์ลงไปแบบไม่เกรงใจทีมงาน สุดท้ายเหมือนจะมีการยื่น Notice กลาย ๆ ว่าพิจารณาตัวเองได้แล้วนะ คุณทาคาเทระเจอเรื่องแบบนั้นเข้าไป จึงประกาศถอนตัวจากการเป็นโปรดิวเซอร์หลัก และลาออกจากโตเอะโดยถาวร

แต่มีหลายกระแสครับที่พูดถึงการลาออกในครั้งนี้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะเหตุผลเรื่องงบประมาณที่กล่าวไปข้างบน แต่เท่าที่ผมไปอ่านเจอ ก็มีบางกระแสเข้ามาโต้แย้งว่าเป็นเพราะคุณทาคาเทระมีปัญหากับนักแสดงนำหลายคน โดยเฉพาะคุณโฮโซคาว่า ที่ลือกันถึงเรื่องการแทรกแซงบท จนทำให้คุณทาคาเทระรู้สึกกดดัน และขอถอนตัวไปในที่สุด

(อันนี้ไม่รู้อันไหนจริง อันไหนเท็จ คงต้องรอการพิสูจน์ต่อไปครับ แต่ที่ชัดเจนคือยอดขายมันไม่ได้ดีอย่างที่เห็นนั่นแล)

ฮิบิกิปะทะเจ็ดอสูรสงคราม ต้นแบบจาก 7 เซียนซามูไร



———————————–

คำถามคือคุณทาคาเทระแกทำผิดอะไรรึเปล่า?

ถ้าในมุมมองของนักลงทุน ใช่ครับเค้าทำงานโดยไม่ได้คำนึงถึงงบประมาณและผลกำไร แต่ถ้ามองในแง่ของผลงานล่ะ … คูกะคือเครื่องการันตีฝีมือได้อย่างดี เทคนิคการเข้าถึงตัวนักแสดงที่สามารถดึง โอดากิริ โจ ให้เล่นซีรีส์จนจบและสร้างตำนานได้ หรือกระแสของฮิบิกิในตอนแรกที่แฟน ๆ รุ่นใหญ่ต่างชอบอกชอบใจ ซึ่งตรงนี้ในมุมของ “ผู้สร้างงานศิลป์” ผมว่าเค้าไม่ได้ผิดอะไรนะ แถมยังเป็นคนที่ทุ่มเทอะไรสุดตัวอีกต่างหาก

ตอนนี้คุณทาคาเทระออกมาเป็นบรรณาธิการนิตยสารแห่งหนึ่ง และมีรายการวิทยุเป็นของตัวเองครับ มักจะเชิญพวกนักแสดงโทคุฯ มานั่งคุยประจำ หนึ่งในนั้นก็ โอดากิริ โจ นั่นล่ะ

อยากตามติดชีวิตของเค้าก็เข้าไปในทวิตเตอร์ได้เลยจ้า