เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ “Super Sentai Series” ถูกสร้างขึ้นมาจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลาย ๆ คนบนโลกนี้ไปแล้ว
แต่จะมีซักกี่คนล่ะ? ที่รู้ว่าชื่อของขบวนการเซนไทที่เราได้ดูกันอยู่ทุกวันนี้ มันมีชื่อที่ถูกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมาก่อน
มิหนำซ้ำ บางชื่อยังถูกนำมาใช้ใหม่ในขบวนการแปลงร่างยุคปัจจุบันอีกด้วย
เรามาดูกันครับว่าชื่อของเซนไทอย่าง “ไม่เป็นทางการ” สุดประหลาดนี้มีอะไรกันบ้าง
——————————————————-
นินปูเซนไท เฮอริเคนเจอร์
ขบวนการซุปเปอร์เซนไทลำดับที่ 26 ที่มีคอนเซปท์จากนินจาเป็นหลัก และถือว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่มีการนำเอาธีมของนินจามาใช้ ในช่วงแรกนั้นทีมงานต้องการจะให้มีชื่อว่า “ไดนินเซนไท นินจาแมน” ซึ่งขัดกับการตั้งชื่อในช่วงนั้นค่อนข้างมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วชื่อมักจะตั้งด้วยการลงท้ายว่า “Ger” เสมอ ๆ แม้จะมีบ้างที่กลับมาใช้คำว่า “Man” ลงท้าย แต่ชื่อของ “เฮอริเคนเจอร์” จริง ๆ แล้วมาจากคำว่า “เฮอริเคน” + “แมสเซนเจอร์” ต่างหากครับ
ทว่าใน Net Movie ก็มีการเปิดเผยอีกว่าชื่อของ Hurricanger นั้นมาจากการตัดคำของภาพยนตร์ ハリー・ポッター と 賢者の石 (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์) … อึ้งมั้ยล่ะ?
——————————————————-
แจคเกอร์ เดงเงคิไท
ขบวนการเซนไทระดับคลาสสิคที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ 2 จากทั้งหมด 37 ขบวนการ เนื้อหาสุดแหวกแนวด้วยทีมมนุษย์ดัดแปลงทั้ง 4 ที่รวมตัวกันเพื่อตามแก้ไขคดีที่มีเหล่าองค์กรอาชญากรรมอยู่เบื้องหลัง แม้วา่จะสร้างความสำเร็จเทียบเท่า “โกเรนเจอร์” ที่สร้างไปก่อนหน้าไม่ได้ แต่เรื่องของการออกแบบและความคลาสสิคนั้นถือว่าเต็มร้อย
JAKQ หรือแจคเกอร์นั้นถูกเรียกมาจากตัวอักษรหน้าไพ่แต่ละใบ Jack / Ace / King / Queen นั่นเอง อนึ่งขบวนการนี้ไม่ได้ถูกเรียกว่า “ซุปเปอร์เซนไท” หากแต่ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า “เซนไท” เฉย ๆ (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นซุปเปอร์เซนไทตอนแบทเทิ่ลฟีเวอร์เจ)
ชื่อแบบดั้งเดิมของแจคเกอร์นั้นก็คือ “เดงเงคิ เซนไท ครอสโบนเจอร์” และ “คางาคุ โทคุโซวไท บอร์คฮันเตอร์” คาดว่าที่เปลี่ยนมาเป็นแจคเกอร์สั้น ๆ เพราะชื่อนี้มันสื่อถึงดีไซน์ได้ตรงกว่าสองชื่อข้างบนนั่นล่ะครับ
——————————————————-
แบทเทิ่ลฟีเวอร์ เจ
ขบวนการเซนไทลำดับที่ 3 ที่นำเอาคำว่า “Super Sentai Series” มาใช้เป็นครั้งแรก เพราะมีการร่วมงานกันกับ Marvel Studio อย่างเป็นทางการ รวมไปถึงคอนเซปท์นานาชาติที่ไปพ้องกับฮีโร่รักชาติอย่าง “Captain America” ทำให้ชื่อในตอนต้นถูกเรียกว่า “Captain Japan” อย่างไม่ต้องสงสัย และด้วยการร่วมทีมกันนั้นเอง ทำให้ซีรีส์นี้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมเซนไทสุดยิ่งใหญ่อย่าง “หุ่นรบขนาดยักษ์”
การร่วมมือกันกับ Marvel Studio นี้ ทางโตเอะได้สร้างซีรี่ย์ที่มีทีมงานของมาร์เวลเกี่ยวข้องถึงสามเรื่องด้วยกัน
นั่นก็คือ 1. Spider-Man (เวอร์ชั่นญี่ปุ่น) / 2. แบทเทิ่ลฟีเวอร์ J / 3. เดนจิแมน
แต่สาเหตุที่เปลี่ยนมาเป็นแบทเทิ่ลฟีเวอร์ J นั้น โดยลึก ๆ แล้วเชื่อว่าทีมงานต้องการจะสื่อถึงธีมที่เกี่ยวข้องกับการเต้นในเนื้อเรื่องมากกว่า คำว่า Fever ในยุคนั้นจะสื่อถึงธีมการเต้นแบบดิสโก้ เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮากันในตอนนั้นเลยทีเดียว
ปล. แบทเทิ่ลฟีเวอร์ J ถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในจักรวาลของมาร์เวลด้วยนะครับ นั่นก็คือ Earth-79203
ไทโยเซนไท ซันวัลแคน
ขบวนการลูกพระอาทิตย์ที่มีคอนเซปท์สุดเจ๋ง เมื่อเหล่าตัวแทนจากทหารสามเหล่า (ทหารบก หทารเรือ ทหารอากาศ) ได้มารวมตัวกันเพื่อปกป้องโลกในนามซันวัลแคน ขบวนการซุปเปอร์เซนไทลำดับที่ 5
ขบวนการนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์เอาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรกที่มีแค่ 3 คน หรือการเปลี่ยนตัวนักแสดงสีแดงกลางอากาศ หรือแม้แต่เนื้อเรื่องที่ต่อจาก “เดนชิเซนไท เดนจิแมน” เป็นต้น
แม้จะลดขนาดของสมาชิกลงไป แต่ความดังก็ไม่แปรเปลี่ยนตามไปด้วย ซันวัลแคนถือว่าเป็นขบวนการที่เรียกได้ว่า “ชาตินิยม” ที่สุดในบรรดาขบวนการเซนไททั้งหมดเลยก็ว่าได้ครับ ในตอนแรกนั้นชื่อที่ถูกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็คือ “พลาสแมน” ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “พลาสม่า” นั่นเอง
คำว่าพลาสม่านั้นจะถูกนำมาใช้จริง ๆ แต่ด้วยความที่ชื่อมันดูไม่เป็น Inter ซักเท่าไหร่ + กับความไม่น่าจดจำเวลาไปออกโชว์ ชื่อของขบวนการนี้เลยถูกเปลี่ยนให้มาเป็น “ซันวัลแคน” แบบเท่ ๆ ไปเลย
——————————————————-
ไดเซนไท โกกุลไฟว์
ขบวนการพลังโคตรยิ่งใหญ่ “โกกุลไฟว์” ซุปเปอร์เซนไทลำดับที่ 6 ที่ตั้งชื่อเท่ ๆ ด้วยการใช้ตัวเลขโรมันอย่าง V มาใส่ คอนเซปท์ของเรื่องจะพูดถึงการนำเอาพลังงานที่อยู่ในอัญมณีจากโบราณสถานต่าง ๆ ของโลก + พลังวิทยาศาสตร์ และอาวุธที่มาจากอุปกรณ์กีฬา ในตอนแรกถูกวางไว้ในชื่อว่า “โกโกไฟว์” (ห๊ะ!) และ “มิไรเซนไท มิไรแมน” (ยอดมนุษย์เหนือเวลา … เกี่ยวอะไรกับเวลาฟระ?)
โกกุลไฟว์เกิดมาในยุคที่ซุปเปอร์โรบอทอนิเมชั่นกำลังรุ่งเรือง จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะดูเงียบ ๆ ไปในสารบบของเซนไท แต่ในบ้านเรากลับปรากฏว่ามีการนำเข้ามาฉาย รวมไปถึงมีเพลงเปิดในรูปแบบของภาษาไทยอีกด้วย (จริง ๆ มีก่อนหน้าหลายขบวนการล่ะครับ ที่มีเพลงเปิดภาษาไทย)
——————————————————-
คางาคุเซนไท ไดน่าแมน
ขบวนการเซนไทที่ใช้ระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าขยับนิดนึงก็ระเบิด ใช้ท่าไม้ตายก็ระเบิด ประกาศตัวก็ระเบิด เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่าทั้งซีรี่ย์นี้ใช้ระเบิดกันนับร้อย ๆ ตันเลยทีเดียว แถมยังเป็นต้นแบบให้กับเซนไทรุ่นหลัง ๆ ในเรื่องของการประกาศตัวแล้วมีระเบิดตามอีกด้วย แต่ทว่าในยุคหลัง ๆ ระเบิดนั้นอันตรายเกินไป จึงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นระเบิด CG แทน
ขบวนการเซนไทลำดับที่ 7 นี้เคยถูกนำไปฉายในอเมริกาช่วง Night Flight ช่วงปี 1986 จำนวนทั้งสิ้น 6 ตอนด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จซักเท่าไหร่ แถมยังดูเป็นรายการตลกซะด้วยซ้ำ
ชื่อแบบดั้งเดิมของไดน่าแมนนั้นถูกเรียกตามการออกแบบชุดที่มาจากชุดของนักเบสบอลนั่นเอง “เบสบอลเซนไท วี-ลีคเกอร์” ตามที่ค้น ๆ มา ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของวงการเบสบอลญี่ปุ่นอีกด้วย การสร้างเซนไทที่มาจากนักเบสบอลก็ดูไม่แปลกตาซักเท่าไหร่ แต่เบสบอลกับระเบิดนี่มันไม่ค่อยจะเกี่ยวกันซักเท่าไหร่แฮะ ชื่อเลยเปลี่ยนมาเป็น “ไดน่าแมน” ที่แผลงมาจาก “ไดนาไมท์” (ระเบิด) แทนครับผม
——————————————————-
นินจาเซนไท คาคุเรนเจอร์
ขบวนการเซนไทลำดับที่ 18 ที่นำเอาคอนเซปท์ของนินจามาใช้เป็นครั้งแรก ด้วยดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย + เนื้อเรื่องที่สนุกน่าติดตาม ทำให้ขบวนการนี้สามารถสร้างความนิยมให้กับผู้ชมได้อย่างไม่ยากเย็น
คาคุเรนเจอร์ถูกสร้างต่อจากขบวนการ “ไดเรนเจอร์” ที่มีคอนเซปท์เป็นจีนจ๋า พอมาถึงคิวของคาคุเรนเจอร์แล้ว ทีมสร้างก็พยายามสร้างขบวนการที่มีวัฒนธรรมญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นกระแส แม้ในตอนแรกจะถูกวางชื่อไว้ว่า “นินจาเซนไท โกนินจา” เพื่อให้พ้องกับจำนวนนินจาที่มีอยู่ 5 คน แต่ชื่อนี้ยังดูไม่เป็นญี่ปุ่นพอ ทางทีมงานเลยใช้คำว่า “คาคุ” แทนคำว่า “นินจา” ซะเลย
ถ้าจำไม่ผิด ขบวนการนี้ฉายตอนเช้า ๆ ทางช่อง 3 และนางเอกน่ารักมาก ๆ (แน่ล่ะ ตอนน้องเค้าเล่นอายุแค่ 14 – 15 เอง)
——————————————————-
ฮิมิทสึเซนไท โกเรนเจอร์
ขบวนการพ่อทุกสถาบันจากมันสมองของสุดยอดปรมาจารย์ “อิชิโนะโมริ โชทาโร่” กับเหล่านักสู้จากหน่วยพิทักษ์โลกที่มารวมตัวกันเป็นทีมขึ้น ขบวนการเซนไทลำดับที่ 1 ที่ฉายในปี 1975 นี้ถูกตั้งชื่อตอนสร้างเป็นมังงะใหม่ ๆ ว่า “เรดวัน” โดย อ.อิชิโนะโมริต้องการจะให้มีแค่สีแดงเท่านั้นที่เป็นผู้นำทีมทั้งหมด แต่หลังจากการประชุมกับทีมสร้างแล้ว การสร้างฮีโร่ที่มีเพียงคนเดียวจะไปซ้ำกับ “คาเมนไรเดอร์” ในยุคนั้น
ผู้สร้างจึงเห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะมีนักสู้ผู้ปกป้องโลกที่ทำงานเป็นทีมขึ้นมาบ้าง ขบวนการ “โกเรนเจอร์” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา และคำว่า “โก” ยังมีความหมายว่า 5 ในภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย
รู้หรือไม่ครับว่า “โกเรนเจอร์” และ “แจคเกอร์” นั้นไม่ถูกนับว่าเป็น “ซุปเปอร์เซนไท” นะครับ แต่ถูกเรียกว่า “เซนไท” แทน แต่ที่เป็นซุปเปอร์เซนไทจริง ๆ นั้นเริ่มจาก “แบทเทิ่ลฟีเวอร์เจ” ต่างหาก
ในคลิปตอนพิเศษของ “ขบวนการเทอร์โบเรนเจอร์ ปะทะ ซุปเปอร์เซนไท” นั้นจะเห็นว่าไม่มีการนับเอาโกเรนเจอร์และแจคเกอร์เข้าไปด้วย จนกระทั่งในปี 1996 ปีที่ครบรอบ 20 ปีขบวนการเซนไท ในตอนนั้นเป็นปีที่ “โอเรนเจอร์” ฉายพอดี ขบวนการโกเรนเจอร์และแจคเกอร์ก็ได้ถูกนับเข้าไปเป็น 1 ในซุปเปอร์เซนไทซีรี่ย์ครับ
——————————————————-
โควโซคุเซนไท เทอร์โบเรนเจอร์
ขบวนการเซนไทลำดับที่ 13 เป็นเซนไทขบวนการแรกที่สร้างความฮือฮาด้วยการใช้ตัวละครเป็นเด็กมัธยมปลายมาสร้างทีม หลาย ๆ คนอาจจะมองคำว่า “เทอร์โบเรนเจอร์” ฟังแล้วดูทรงพลัง+ร้อนแรงเหมือนกับตัวละครที่เป็นเด็กมัธยมปลาย แต่ทว่าชื่อในตอนแรกนั้น …. เอิ่ม “เกคิโซวเซนไท คาร์เรนเจอร์” ครับ
อ้าว! นี่ไม่ใช่คาร์เรนเจอร์เหรอ?
——————————————————-
เซย์จูเซนไท กิงกะแมน
ขบวนการผู้พิทักษ์แห่งทางช้างเผือก ที่เรียกว่าเกิดมาในยุคมืดของซุปเปอร์เซนไทก็ว่าได้ เพราะในยุคนั้นมีอนิเมชั่นเกิดขึ้นมามากมาย ประกอบกับเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้วงการไลฟ์แอคชั่นไม่ค่อยได้รับความนิยมมากมายเท่าไหร่ แต่ก็ยังสามารถประคับประคองตัวเองมาได้ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในสมัยนั้น (สัตว์เทวะ+นักรบโบราณ)
ชื่อกิงกะแมนนั้นไปพ้องกับเหล่าร้ายที่ปรากฏอยู่ในไฟว์แมนอย่าง “กิงกะเซนไท กิงกะแมน” มาก่อนครับ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรเมื่อเทียบกับชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ตั้งมาในตอนแรกอย่าง “กาโอเรนเจอร์” …. (ห๊ะ!)
จริง ๆ คำว่า “กาโอ” เหมือนจะเป็นเสียงที่เปล่งออกมาของสัตว์ร้าย เช่นสิงโตประมาณนั้นครับ แต่ด้วยคอนเซปท์ของตัวละครที่เป็นเทพพิทักษ์จากอวกาศ จะให้มาคำรามอย่างเดียวคงไม่เท่ เลยตั้งชื่อให้ยิ่งใหญ่ไปเลยว่า “กิงกะแมน” (กิงกะแปลว่าจักรวาล … เหมือนอุลตร้าแมนกิงกะนั่นล่ะ)
กิงกะพิงค์ ซายะ : จูริ มิยาซาว่า (ตอนที่เล่นนั่นยังเด็กอยู่ครับ ตัวเลยบวม ๆ ตอนนี้สวยเช้งเลย)
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ชื่อของกาโอเรนเจอร์ก็ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการใน “ฮยาคุจูวเซนไท กาโอเรนเจอร์” ครับผม
——————————————————-
โกเซย์เซนไท ไดเรนเจอร์
ขยวนการนักรบ 5 ดาวที่ถูกกล่าวขานกันว่าสนุกที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด ดราม่าที่สุด และเหมาะสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มติดตามหนังแปลงร่างอย่างจริงจัง หลาย ๆ คนถึงกับแนะนำว่าถ้าคุณอยากดูเซนไท ให้ไปดู “ไดเรนเจอร์” ได้เลย
ไดเรนเจอร์คือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างซุปเปอร์เซนไทซีรี่ย์และเนื้อเรื่องแบบนิยายกำลังภายในของจีน ไม่ว่าจะเป็นมุกของอาจารย์ + ลูกศิษย์ ,การต่อสู้ของสองสำนัก ,มีการฝึกวิชา ใช้กำลังภายใน ,การหักหลัง ,ความแค้นแต่กาลก่อน ,ข้าคือพ่อของเจ้า ,ท่านอาจารย์!! บลา ๆ
ชื่อแต่เริ่มนั้นถูกกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้ “จูกะเซนไท ไชน่าแมน” (จูกะแปลว่าคนจีน) แน่นอนว่าชื่อนี้ไม่ได้มาจากการหลับตาจิ้มเอาแน่นอน แต่อย่างที่ทราบกันดีกว่าญี่ปุ่นกับจีนนั้นมีกรณีพิพาทกันหลายอย่าง การที่จะเอาวัฒนธรรมของจีนมาใช้อย่างโจ่งแจ้งมันก็ดูเป็นอะไรที่โหดร้ายเกินไปสำหรับคนรุ่นเก่า ๆ ทางทีมงานเลยพยายามเลี่ยงที่จะใช้ชื่อนี้ และหันไปใช้ “ไดเรนเจอร์” แทน
อนึ่ง มุกนี้ถูกนำมาล้อเลียนกันอย่างสนุกสนานในอากิบะเรนเจอร์ซีซั่นสอง ที่มีการพูดถึงการสลับกันของการเป็นซีรี่ย์อย่างเป็นทางการ ระหว่างอากิบะเรนเจอร์และไชน่าแมน (ไดเรนเจอร์นั่นล่ะ)
แต่ทว่าไดเรนเจอร์ก็มีอีกชื่อหนึ่งซึ่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า “ไดเคนเจอร์” อีกด้วย