Review คาเมนไรเดอร์โกสท์ … จิตวิญญานแห่งวีรชนไม่มีวันสิ้นสูญ

ชื่อเรื่อง :   คาเมนไรเดอร์โกสท์ (仮面ライダーゴースト)
ปีที่ออกฉาย :   4 ตุลาคม 2015 – 25 กันยายน 2016
จำนวนตอน :   50 ตอน
นำแสดงโดย :   ชุน นิชิเมะ / ฮิคารุ โอซาว่า / เรียวสุเกะ ยามะโมโต้ / ยานางิ ทาคายูกิ / อิโซมูระ ฮายาโตะ / มิโอะ คุโดะ
เขียนบทโดย :   ทาคุโระ ฟุคุดะ / โนบุฮิโระ โมริ / เคย์อิจิ ฮาเซกาว่า
กำกับโดย :   ซาโตชิ โมราตะ / โคอิจิ ซากาโมโต้ / เคียวเฮย์ ยามะกุจิ / ริวตะ ทาซากิ
Official Site :   http://www.toei.co.jp/tv/ghost
เพลงเปิด :   我ら思う、故に我ら在り

เรื่องย่อ :

“ชื่อของผมคือเท็นคูจิ ทาเครุ … ในวันเกิดครบรอบอายุ 18 ปีของผม ผมถูกฆ่าตายโดยกัมมะ และกลายมาเป็นคาเมนไรเดอร์โกสท์ เพื่อที่จะคืนชีพนั้น ผมจึงต้องตามหาอายค่อนของเหล่าวีรชนทั้ง 15 ให้ได้ก่อนเวลา 99 วันของผมจะหมดลง” 

  “เท็นคูจิ ทาเครุ” บุตรชายคนเดียวของเจ้าอาวาสวัดไดเท็นคู ในวันเกิดครบรอบอายุ 18 ปีนั้น เค้าได้รับไอเท็มที่ชื่อว่า   “อายค่อน”    ที่ส่งมาจากพ่อที่เสียชีวิตไปนานแล้ว ซึ่งในเวลาต่อมานั้นเองทาเครุก็ถูกฆ่าตายโดยกัมมะและได้พบกับชายผู้อ้างตนว่าเป็นเซียนแห่งโลกวิญญาน …

ทาเครุก็ได้รับเข็มขัดโกสท์ไดรฟ์เวอร์เพื่อแปลงร่างเป็น   “คาเมนไรเดอร์โกสท์”    โดยเซียนคนดังกล่าวได้มีข้อเสนอว่า ถ้าหากทาเครุสามารถรวบรวมอายคอนของเหล่าวีรชนทั้ง 15 ได้ภายในเวลา 99 วัน เค้าจะกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง โดยมีหลวงพี่ประจำวัดไดเท็นคู   “โอนาริ”    และเพื่อนสาวนักวิทยาศาสตร์   “อาคาริ”    คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

ทาเครุรวบรวมอายค่อนได้บางส่วน ก็ได้พบกับ   “คาเมนไรเดอร์สเปคเตอร์”    หรือ   “ฟูคามิ มาโกโตะ”    รุ่นพี่ของตนที่สาปสูญไปในโลกของกัมมะเมื่อหลายปีก่อน มาโกโตะเข้าต่อสู้แย่งชิงอายค่อนกับทาเครุโดยมีเป้าหมายคือการขอพรจาก   “เกรทอาย”    สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงพลังที่สามารถคืนชีพให้กับน้องสาวของเค้า   “ฟูคามิ คาน่อน”   

ทว่าทาเครุเป็นฝ่ายที่รวบรวมอายค่อนครบทั้ง 15 ชิ้นได้สำเร็จ คำขอพรของทาเครุไม่ใช่การคืนชีพตน หากแต่เป็นการคืนชีพคาน่อนขึ้นมา ด้วยเหตุนี้มาโกโตะจึงตัดสินใจว่าจะทำทุกอย่างแม้กระทั่งตายแทนทาเครุได้ เพื่อให้ทาเครุกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

เวลาครบ 99 วัน เหล่าศัตรูจากโลกแห่งกัมมะที่หมายจะยึดครองโลกก็บุกเข้าโจมตี เป็นเวลาเดียวกับที่วิญญานของทาเครุได้สลายไป

แต่เคราะห์ดีที่วิญญานของ   “เท็นคูจิ ริว”    ผู้เป็นพ่อได้มอบพลังและยืดเวลาออกไปอีก 99 วัน เพื่อให้ทาเครุทำในสิ่งที่หวังไว้ให้สำเร็จ

เพราะการเข้ามายังโลกมนุษย์ของเหล่าปีศาจกัมมะ ทำให้ทาเครุต้องค้นหาความจริงว่าโลกแห่งกัมมะนั้นแท้ที่จริงเป็นยังไงกันแน่

การปะทะกันจนเกิดความเข้าใจกับ  “อลัน”   เจ้าชายแห่งโลกกัมะที่ถูกพี่ชาย  “อเดล”   หักหลังด้วยการป้ายสีว่าสังหารบิดาของตน

ก็ส่งผลให้อลันเข้าใจโลกรวมไปถึงจิตใจของมนุษย์ได้มากขึ้น และได้อลันมาเป็นหนึ่งในสหายร่วมต่อสู้อีกคน จากนั้นความจริงก็ถูกเปิดเผย

ว่าอเดลมีแผนการที่ชื่อว่า   “โปรเจคท์เดเมีย”    ในการครอบงำมนุษย์โลกตามความฝันในการสร้างโลกอันสมบูรณ์แบบของตน ทาเครุ, มาโกโตะ และอลันต่างก็ร่วมมือกันต่อสู้กับอเดลจนได้รับชัยชนะ จากนั้นทาเครุก็พบกับเกรทอายจนสามารถกลับมามีชีวิตได้ตามเดิม

Review :

นี่คือคาเมนไรเดอร์ซีรี่ส์เพียงไม่กี่เรื่องที่หยิบเอาธีมของ   “ไสยศาสตร์”    มาใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินเรื่องครับ

แต่ถึงแบบนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คนดูบางส่วนคาดหวังซักเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายก็มีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่เช่นเคย

หลายคนอาจจะมองภาพว่าเป็นเรื่องราวของพระเอกนักล่าวิญญาน ที่ต้องสู้กับผีร้ายและมีท่าสะกดวิญญานต่าง ๆ นานา

แต่คาเมนไรเดอร์โกสท์ไม่ใช่แบบนั้น …

พระเอกของเรื่องต้องตามหา   “ดามาชี่”    (หรือจิตวิญญาน) ของเหล่าวีรชนที่มีตัวตนจริง ๆ ในโลกนี้ นับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับแฟน ๆ ของซีรี่ส์นี้เลยก็ว่าได้ครับ เพราะที่ผ่านมาเราจะได้เจอกับพลังวิทยาศาสตร์ หรือพลังลึกลับของสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยจะมาจากเรื่องที่แต่งขึ้นตามจินตนาการของเจ้าของเรื่อง

แต่โกสท์กลับนำเอาประวัติศาสตร์ รวมไปถึงอัตชีวประวัติบุคคลมาใส่ในเนื้อหาได้อย่างแนบเนียน จนเราแทบไม่รู้สึกตัวเลยว่าเรากำลังดูประวัติของบุคคลในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์อยู่ยังไงยังงั้นเลยก็ว่าได้

จิตวิญญานต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องไม่ใช่   “วิญญาน”    หรือผีตามความเชื่อของคนทั่วไป แต่ในเรื่องนี้พยายามอธิบายว่ามันคือ “ความตั้งใจอันแรงกล้า”    ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้กระทั่งเจ้าของความตั้งใจนั้นจะสิ้นสลายไปแล้วก็ตามที แต่   “ความตั้งใจอันแรงกล้า”   

ก็จะยังคงอยู่ในรูปแบบของ   “ดามาชี่”    ซึ่งพระเอกของเราสามารถผนึกจากสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ๆ และเอามาใช้เป็นพลังของตน

โดยดามาชี่แต่ละดวงจะสื่อถึงองค์ประกอบของการมีชีวิต ทั้งความรัก ความพยายาม ความมุ่งหวัง ความโกรธ รวมไปถึงอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสื่อโดยตรงต่อธีมของเรื่องที่พยายามจะให้พระเอกของเรากลับมามีชีวิตอีกครั้งให้ได้นั่นเองครับ

ส่วนประเด็นที่ซีรี่ส์นี้พยายามเน้นเป็นรองลงมาก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยกเอาหน่วยที่เล็กที่สุดอย่าง   “ครอบครัว”    มาเป็นตัวแทนในการอธิบายใจความที่เรื่องราวต้องการจะสื่อ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อ-ลูก แม่-ลูก พี่-น้อง เพื่อน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้จะมีพระเอกของเราคอยตามแก้ปัญหาให้ ด้วยพลังในการ   “เชื่อมต่อจิตใจ”    ของทาเครุ ทำให้เค้าอธิบายความรู้สึกของคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย

เหมือนจะเป็นตัวอย่างให้กับคนดูว่าถ้าหาก “คน ๆ หนึ่ง” เข้าใจอีกด้านหนึ่งของ “อีกคน” แล้ว ปัญหาทุกอย่างในโลกอาจจะไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

หากว่ากันตามเนื้อหา คาเมนไรเดอร์โกสท์นับว่าเป็นซีรี่ส์ที่วางโครงเรื่องและธีมเอาไว้ดีเป็นลำดับต้น ๆ ของซีรี่ส์ไรเดอร์เลยก็ว่าได้ครับ

แต่ … จุดที่พังพินาศที่สุดของซีรี่ส์นี้ กลับเป็นปัญหาในเรื่องของการนำเสนอ และการสร้างความประทับใจ

ให้นึกภาพของคุณครูที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนไม่ได้ อะไรทำนองนั้น …

อย่างที่ทราบกันดีว่าคาเมนไรเดอร์ซีรี่ส์ในยุคหลังนั้น มีการลดทอนเอาในส่วนของเนื้อหาที่โดนใจผู้ชมออกไปค่อนข้างเยอะ และเน้นไปที่การโปรโมทตัวสินค้าและนักแสดงเป็นหลัก ในยุคที่เรทติ้งทีวีไม่สำคัญเท่ากับยอดขายของเล่นในตลาดนั้น ช่วงแรกของซีรี่ส์จะเป็นการปูทางไปยังการนำเสนอสินค้าชิ้นใหม่ ๆ ไอเท็มใหม่ ๆ และกว่าจะเข้าเนื้อหาจริงก็ปาไปตอนที่ 20 กว่าโน่นเลย

โกสท์เองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เจริญรอยตามแนวทางนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยนซักเท่าไหร่ ทว่าเนื้อหาที่ถูกแทรกอยู่นั้นแม้ว่าจะมีประเด็นที่ดี

แต่การนำเสนอทำได้ออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะไม่มีโฟกัสและความประทับใจที่แรง + ตรงใจกับผู้ชมได้มากพอ

ตัวละครหลักบางตัวอย่างเช่นโอนาริ หรือนางเอกของเรื่องอย่างอาคาริก็ยังไม่แน่น อาจจะเป็นเพราะความไม่หลากหลายของบทบาท และบทที่เน้นไปที่จุด ๆ เดียวมากเกินไป ทำให้คนดูเริ่มเบื่อหน่ายกับความซ้ำซากที่ต้องพบในแต่ละตอน หรือจะเป็นการใช้ตัวละครที่ค่อนข้างจะดูสิ้นเปลือง

บางฉากไม่จำเป็นต้องออกมาหมด (แต่ ผกก. ก็สั่งให้ออกมาให้เต็ม ๆ จอซะงั้น) จนดูเลอะเทอะไปเลยก็มี ในแง่ของการกระจายความสำคัญ ผมมองว่ามันยังกระจายได้ไม่ทั่วถึงพอ

บางตัว (พระเอกนั่นล่ะ) ก็เด่นและอวยจนเวอร์ บางตัวก็เลือนลางจนลืมไปเลยว่าเอ็งเป็นตัวละครหลัก

ปริศนาบางอย่างก็ทิ้งไว้ดองไว้ให้คนดูไปคิดต่อเอาเอง (ซึ่งบางจุดถูกเอาขยายใน V-Cinema แทน)

เนื้อหาช่วงต้นทำออกมาได้โอเคนะครับ กลางเรื่องนี่รู้สึกว่ายืดจนอยากจะหลับไปเลย มาเร่งเอาช่วง 5 ตอนสุดท้ายที่เหมือนจะสรุปทุกอย่างแบบรวบรัดให้หมด ๆ ไป เล่นเอาคนที่คาใจกับปริศนาบางอย่างถึงกับถอนหายใจว่า … เออ เล่นกันง่าย ๆ แบบนี้เลยเหรอ?

ถ้าหากว่ามองซีรี่ส์โดดเด่นในเรื่องของการเป็นตัวอย่างที่ดีของการศึกษาจิตใจผู้อื่น มันก็ยังไม่ทรงพลังเท่ากับฮิบิกิครับ

แม้ว่าคาเมนไรเดอร์ฮิบิกิจะด้อยในเรื่องของการสร้างจุดเด่นของความสนุก แต่คาแรคเตอร์เฉพาะตัวของตัวละครในเรื่องกลับทรงพลังอย่างน่าประหลาด

สวนทางกับคาเมนไรเดอร์โกสท์ที่พยายามจะดันให้พระเอกของเรื่องเป็นไอค่อนแบบนั้น แต่ก็ยังไม่สุดพอจนรู้สึกว่าฝืนไปบ้างก็มี

ส่วนคนที่น่าดันให้เป็นตัวละครที่ทรงพลังอย่างหลวงพี่โอนาริ ก็ปั้นให้เป็นตัวฮาแป๊ก ๆ ซะจนอย่างให้พ้น ๆ ฉากนั้นไป (เข้าใจว่าเป็นมุกทางวัฒนธรรม อาจจะเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นขำก็ได้)

หรือเพลงประกอบช่วงต่อสู้ที่หลาย ๆ คนยกให้ว่ามันคือหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของซีรี่ส์ไรเดอร์ก็กลับไม่มีออกมาซะงั้น

ด้วยเหตุผลนานับประการเลยทำให้เกิดเสียงแตกระหว่างคนที่ติดตามมาตั้งแต่แรก กับคนที่นาน ๆ ดูทีนึงว่าตกลงแล้วซีรี่ส์นี้ดีจริง ๆ หรือเปล่า?

สรุป :

คาเมนไรเดอร์โกสท์เป็นซีรี่ส์ที่เหมาะกับการนั่งดูกับลูก ๆ หลาน ๆ และสอนเค้าไปพร้อมกันว่าส่วนประกอบในเรื่องมีอะไรบ้าง อาจจะลากโยงไปสอนประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญ รวมไปถึงการสอนให้เข้าใจเรื่องของ   “การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น”    ได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าหากต้องการจะเสพเนื้อหาหนัก ๆ หรือมีจุดพลิกผันเยอะ ๆ ตามสไตล์ของเฮย์เซย์ไรเดอร์เฟสแรกแล้วล่ะก็ … ซีรี่ส์นี้ไม่ใช่คำตอบสำหรับคุณครับ

 จุดเด่น : 

– เป็นซีรี่ส์ประกอบการศึกษาเรื่องประวัติบุคคลสำคัญที่ดีเรื่องหนึ่ง
– เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีอะไรจะดู และต้องการที่จะดูคาเมนไรเดอร์ซีรี่ส์แบบรวดเดียวจบ 50 ตอน
– ฉากแอคชั่นเวอร์วังอลังการ ต่อยกันสนุกกว่าหลายซีรีส์ก่อนหน้า

จุดด้อย : 

– ไม่มีความประทับใจ หรืออะไรที่น่าจดจำในซีรี่ส์ซักเท่าไหร่ครับ ส่วนมากคนไปจำว่าโกสท์ได้เจอกับอิชิโกมากกว่าซะอีก
– เนื้อเรื่องยืด ยืดมาก ๆ ยืดจน … จนไม่อยากติดตามเลย
– หลาย ๆ จุดในเรื่องไม่เคลียร์ และทับซ้อนกับเนื้อหาอื่นในรูปแบบภาพยนตร์จนรู้สึกว่ามั่วไปหน่อย

“เนื้อหาดี แต่นำเสนอได้ไม่ค่อยน่าสนใจ เหมาะกับการดูรวดเดียวให้จบ”