เกิดอะไรขึ้นเมื่อคาเมนไรเดอร์ออกอากาศครบ 1000 ตอน

https://youtu.be/V1PA3Arxevs

3 เมษายน 1971

สถานีโทรทัศน์ ANN (All-Nippon News Network) ได้เริ่มทำการออกอากาศโทคุซัทสึซีรีส์เรื่องใหม่ที่มีชื่อว่า 仮面ライダー (Kamen Rider) กับเรื่องราวของชายหนุ่มซึ่งถูกองค์กรลึกลับผู้ชั่วร้าย จับตัวไปดัดแปลงเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือหมายจะยึดครองโลก ทว่าช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย เค้ากลับถูกช่วยเหลือเอาไว้และกลายมาเป็นนักสู้ผู้ผดุงความยุติธรรมบนหลังอานมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างตำนานตราบจนถึงยุคปัจจุบัน

นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๆ จะห้าสิบปีมาแล้ว

แต่ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน จำนวนตอนที่ออกอากาศครบรอบ 1,000 ตอน นั้น “บังเอิญ” ลงล็อคพอดีกับซีรีส์ที่ออกอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว จนทำให้เกิดตอนพิเศษขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบกันไป ทว่าในตอนพิเศษที่ยกมาพูดถึงนั้นกลับไม่ได้เชิดชูเกียรติเหล่าฮีโร่สวมหน้ากากแต่อย่างใด หากแต่เป็นตอนที่จะเน้นไปยังความหมายของเหล่าลูกสมุนเดินเท้าที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “กีกี้” ต่างหาก

3 เมษายน 2011

40 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ความบังเอิญที่เหมือนจะตั้งใจแต่ก็ไม่ได้ตั้งใจกลับมาเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อวันเดียวกันนั้นในอีก 40 ปีต่อมา คือวันครบรอบการออกอากาศของคาเมนไรเดอร์ซีรีส์จำนวน 1,000 ตอนพอดี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “Kamen Rider OOO” ออกอากาศเป็นตอนที่ 28 โดยมีชื่อตอนว่า 1000と仮面ライダーと誕生日 (1000 คาเมนไรเดอร์ และวันเกิด)

ค่อนข้างจะเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วเมื่อมีเนื้อหาผ่านไปครึ่งเรื่อง (หลังตอนที่ 25 เป็นต้นไป) เฮเซคาเมนไรเดอร์ซีรีส์มักจะปล่อยตอนพิเศษออกมา ส่วนมากจะเป็นตอนที่เน้นเฮฮาหรือไม่ก็เป็นการเล่าถึงอะไรสักอย่างเพื่อดึงประเด็นและความสนใจของผู้ชม ให้ห่างออกจากเนื้อหาหลักสักครู่ ก่อนจะขยับดีกรีแบบไม่หยุดพักจนถึงช่วงท้ายของเรื่องในที่สุด

และคาเมนไรเดอร์โอสเองก็กำลังเข้าสู่ช่วงกลางเรื่องที่กำลังตึงเครียดพอดี เมื่อถึงตอนที่ 27 (ตรงกับจำนวนตอนที่ 999 ในสารบบซีรีส์ทั้งหมด) จึงเริ่มปรับเนื้อหาแบบไม่ทันให้ผู้ชมตั้งตัว โดยจะเล่าถึงประธานโคงามิ หัวหน้าองค์กรผู้มอบเทคโนโลยีให้กับตัวเอกของเรื่อง เกิดอยากจะฉลองวันเกิดของคาเมนไรเดอร์ซีรีส์ขึ้นมา และที่พิเศษก็คือในวันที่ออกอากาศครบ 1000 ตอน ก็ตรงกับวันออกอากาศตอนแรกพอดีอีกด้วย โคงามิจึงขอให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่ออุทิศแด่เหล่าไรเดอร์ผู้กล้าหาญ

ทว่าในตอนนั้นกลับมีพลทหารเดินเท้าขององค์กรช็อคเกอร์ “ショッカー戦闘員” (ช็อคเกอร์เซนโทอิน) แฝงตัวเข้ามาหมายจะทำลายกองถ่ายรวมไปถึงไรเดอร์ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องอีกด้วยเช่นกัน การแก้แค้นที่ฝังรากลึกกว่า 40 ปีจะลงเอยเช่นไร อันนี้แนะนำให้ไปติดตามกันเอาเอง

อันที่จริงแล้วตอนพิเศษซึ่งเป็นการฉลองการครบรอบนั้น ตามปรกติจะเป็นการเชิดชูวีรกรรมสุดยิ่งใหญ่ของคาเมนไรเดอร์ผู้กล้าหาญ แต่ผู้สร้างกลับตีความให้เราเห็นมุมมองอีกด้าน โดยใส่กิมมิคทั้งการเล่นคำให้พ้องเสียงหรือใส่ตัวละครซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อผลงานแรกเริ่มโดย อ.อิชิโนะโมริ โชทาโร่ ไม่ว่าจะเป็นฉากการเปิดตัวและคอสตูมที่ทำให้รู้สึกได้ว่าพวกเค้าตั้งใจทำลายกำแพงมิติที่ 4 ลงโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ มารับรอง แต่ก็สามารถเชื่อมโยงไปได้ว่ามันสื่อถึงต้นตำหรับที่เกิดนำเสนอออกมาเมื่อปี 1971 อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

ประเด็นหลักของตอนดังกล่าวไม่ได้นำเอาคาเมนไรเดอร์ออกมาให้คนยกย่อง หากแต่เป็นการสะท้อนมุมมองอีกด้านของตัวประกอบอดทนที่พวกเราเรียกว่า “ช็อคเกอร์เซนโทอิน” หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “กีกี้” นั่นเอง ซึ่งที่มาของกีกี้นั้นมาจากเสียงประกาศตนที่ร้องว่า “อี้” แต่บ้านเราคงได้ยินว่ากี้ จนกลายเป็นชื่อเรียกติดปากของผู้ชมชาวไทยในตอนนั้นไป

ช็อคเกอร์เซนโทอินในยุคแรกเริ่มนั้นไม่ได้มีเครื่องแบบขาวดำอย่างที่เราเห็นกันในตอนนี้ พวกเค้าสวมชุดสีดำทั้งตัว สวมหมวกเบเรต์ ยกเว้นระดับสูงที่จะมีแถบส้มพาดตามลำตัว ใช้อาวุธหลักได้ทั้งมีด ปืน กระบอง หรือควบมอเตอร์ไซค์เข้าโจมตี แต่เมื่อมีการปรับบทให้คาเมนไรเดอร์หมายเลขสองเป็นตัวนำเรื่อง ดีไซน์ของเหล่าสมุนองค์กรช็อคเกอร์จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน

“สำหรับลิ่วล้อแล้ว ไรเดอร์คือกำแพงที่พวกเราต้องก้าวข้ามไปให้ได้”

ความคับแค้นใจที่ซ่อนไว้ในอกกว่า 40 ปีมันถึงขีดสุด เมื่อสบโอกาสในตอนที่ 1000 ก็ขอระบายมันออกมากับแผนทำลายล้างไรเดอร์ ทว่าศักดิ์ศรีที่ฝังลึกมันเรียกร้องให้คู่ปรับตลอดกาลนั้นต่อสู้ไปด้วยกันอย่างเท่าเทียม จึงทำให้กีกี้ผู้คงไว้ซึ่งเกียรติแห่งลิ่วล้อตลอดกาลนั้นเปลี่ยนใจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคาเมนไรเดอร์

นี่คือใจความสำคัญที่เกิดขึ้นในตอนพิเศษดังกล่าว ภาพสะท้อนของจิตใจแห่งผู้แพ้ตลอดกาลนั้นไม่ได้มองว่าไรเดอร์คือวิ่งที่ต้องทำลายล้างเพียงอย่างเดียว หากแต่ศัตรูนั้นคือ “กำแพง” ที่พวกเค้าจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานมาตลอดครึ่งชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง แต่กระนั้นพวกเค้าก็เปรียบเสมือนกำแพงให้กับเหล่าไรเดอร์ก้ามข้ามไปด้วยเช่นกัน

เบื้องหลัง

ในจำนวน 1000 ตอนนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

  • คาเมนไรเดอร์ : 1971 – 1973 (98 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์วีทรี : 1973 – 1974 (52 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์เอ็กซ์ : 1974 (35 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์อะมาซอน : 1974 – 1975 (24 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์สตรองเกอร์ : 1975 (39 ตอน)
  • สกายไรเดอร์ : 1979 – 1980 (54 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ซุปเปอร์วัน : 1980 – 1981 (48 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ซีครอส : 1984 (1 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์แบล็ค : 1987 – 1988 (51 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์แบล็ค อาร์เอ็กซ์ : 1988 – 1989 (47 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์คูกะ : 2000 – 2001 (49 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์อากิโตะ : 2001 – 2002 (51 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ริวคิ : 2002 – 2003 (50 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ไฟซ์ : 2003 – 2004 (50 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์เบลด : 2004 – 2005 (49 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ฮิบิกิ : 2005 – 2006 (48 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์คาบูโตะ : 2006 – 2007 (49 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์เดนโอ : 2007 – 2008 (49 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์คิบะ : 2008 – 2009 (48 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ดีเคด : 2009 (31 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์ดับเบิล : 2009 – 2010 (49 ตอน)
  • คาเมนไรเดอร์โอส : 2010 (ครบ 1000 ตอน ในตอนที่ 28)

ในจำนวนนี้ไม่ได้นับคาเมนไรเดอร์ J / ZO และ Shin ที่ออกฉายในรูปแบบของภาพยนตร์ และวางจำหน่ายในแบบ OVA

ที่มาของแหล่งข้อมูล :
Kamen Rider OOO : Episode 27 – 28 by TOEI Company
https://www.toei.co.jp/tv/OOO/story/1195265_1793.html
https://kamenrider.fandom.com/wiki/Shocker_Combatants
https://en.wikipedia.org/wiki/Kamen_Rider_(1971_TV_serie
s)