[J-HERO.COM REVIEW] Kamen Rider Gotchard

ซีรีส์: Kamen Rider Gotchard (仮面ライダーガッチャード)
ออกอากาศ: 3 กันยายน 2023 – 25 สิงหาคม 2024 (จำนวน 50 ตอน)
นำแสดงโดย: Motojima Junsei, Matsumoto Reiyo, Fujibayashi Yasunari, Nagata Seiichirō, Abe Oto, Tomizono Rikiya, Kumaki Rikuto, Okita Itono, Miyahara Kanon, Sakamaki Arisa, Ishimaru Kanji, Kamakari Kenta และ Fukuda Saki
Producer: Minato Yousuke, Ohkawa Takehiro, Shibako Keisuke
เขียนบท: Hasegawa Keiichi, Uchida Hiroki (Inoue Akiko)
กำกับการแสดง: Tasaki Ryuta
เพลงเปิด: CHEMY×STORY โดย BACK-ON x FLOW


เรื่องย่อ:

“ศาสตร์แปรธาตุ” วิชาลับที่ถูกถ่ายทอดกันมาแสนนาน ว่าด้วยเรื่องของการผสม, รวม, แปลง หรือทำปฏิกริยาระหว่างของสองสิ่งให้เกิดสิ่งใหม่ หรือแม้กระทั่งการ “สร้างสิ่งมีชีวิต” ขึ้นมา

สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากวิชาแปรธาตุ จะมีชื่อเรียกว่า “เคมี่” โดยเคมี่แต่ละตัวจะมีพลังพิเศษแตกต่างกันออกไป หากสามารถครอบครองพวกมันทั้งหมด 101 ตัว ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้เลยก็ว่าได้

“Ichinose Houtaro” เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่ยังไร้ซึ่งเป้าหมายในชีวิต กิจวัตรของเขาคือการช่วยงานร้านอาหารที่บ้านกับแม่ จนกระทั่งวันหนึ่งตัวเองได้เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ที่ “สามพี่น้องแห่งความมืด” เข้าโจมตีโลกแห่งอุโรโบรอส (ดินแดนที่เคมี่หลบซ่อนตัว) และ Houtaro เองก็ถูก “Kudo Fuga” ฝากฝัง Gotchard Driver เอาไว้ ก่อนที่ร่างของตนจะสลายไป ผลจากการต่อสู้ทำให้เคมี่ทั้ง 101 ตัวหลุดออกมายังโลกมนุษย์

เขาจึงต้องร่วมมือกับ “Kudo Rinne” นักแปรธาตุฝีมือดีผู้เป็นลูกสาวของ Fuga ร่วมด้วย Kurogane Supana รุ่นพี่นักแปรธาตุอัจฉริยะจากสถาบันแปรธาตุ และอาจารย์ประจำชั้น Minato พร้อมกับผองเพื่อนในสถาบันเพื่อออกตามหาเคมี่ทั้งหมดให้กลับมา และต่อสู้กับสามพี่น้องแห่งความมืดก่อนที่พวกเธอจะใช้พลังของพวกมันเพื่อทำร้ายมนุษย์

สุดท้าย Houtaro ตัดสินใจได้แล้วว่าตนเองอยากจะ Got Cha! เหล่าเคมี่ทุกตัว สร้างโลกที่ทั้งสองสิ่งอยู่ร่วมกันได้ และกลายเป็นนักแปรธาตุที่สมบูรณ์แบบที่สุดในฐานะ Kamen Rider Gotchard



Review:

ตั้งแต่เริ่มเปิดตัว รวมไปถึงเผยชื่อของทีมงาน ยอมรับครับว่าคาดหวังกับซีรีส์นี้เอาไว้สูงมาก ยิ่งมี Gimmick Item ที่เป็น Trading Card หรือการใช้งานมือเขียนบทอย่างคุณ Hasegawa Keiichi ที่เคยสร้างผลงานเจ๋ง ๆ เอาไว้มากมาย ทั้งฝั่งเฮเซคาเมนไรเดอร์ (คาเมนไรเดอร์ดับเบิล, คาเมนไรเดอร์โกสท์) และเรวะคาเมนไรเดอร์อย่าง Kamen Rider Zero-One ร่วมกับคุณ Uchida Hiroki นักเขียนบทไฟแรงที่มีผลงาน Kamen Rider Outsiders มาร่วมตำแหน่ง Head Writer มันยิ่งเพิ่มความไฮป์มากขึ้นไปอีก

ต่อมาคือการได้วงขวัญใจชาวอนิเมะ BACK-ON และ FLOW มาเติมความสุดยอดให้กับเพลงเปิดของเรื่องที่ออกมาถึงสองเวอร์ชั่น คือเปิดมาขนาดนี้ไม่ไฮป์สุด ๆ ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว

ตอกย้ำให้ฟินหนักจนตาเหลือกเลยก็น่าจะเป็นข่าวลือ (ตอนนั้นยืนยันด้วยตารางของเล่น) ว่าจะมีการกลับมาของคาเมนไรเดอร์ดีเคด ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดากันไม่ยากจากธีมของการ์ดในเรื่อง ในเมื่อทุกอย่างมันมาดีขนาดนี้แล้ว สุดยอดคาเมนไรเดอร์ซีรีส์แห่งยุคเรวะคงหนีไม่พ้นซีรีส์ล่าสุดอย่าง Gotchard

แต่ทว่า…

ความปังปิ๊นาศมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนที่ 1 เลยครับ (ผมขอไล่เป็นจุด ๆ ไปทั้งที่ชอบและไม่ชอบ)

First Impression ในช่วงสองหรือสามตอนแรก คือการเปิดตัวเพื่อดึงผู้ชมให้อยู่หมัด ทั้งการแสดง ลูกเล่นของสะสมที่จะขาย รวมไปถึงการสร้างแฟนเบสให้เกิดกระแสบวกกับเรื่องนี้ เข้าใจอย่างหนึ่งว่านี่คืองานแรกที่ผู้เขียนบททั้งสองรับหน้าที่เป็น Head Writer แถมยังเป็นตำแหน่งคู่อีกด้วย เท่าที่ติดตามบทสัมภาษณ์มาโดยตลอด การทำงานจะให้ทั้งสองทำงานร่วมกันภายใต้คอนเซปท์ที่โปรดิวเซอร์ Minato Yousuke วางเอาไว้ จากนั้นทั้งสองจะนำเอาไปตีความ และเขียนบทออกมาตามสไตล์ที่ตัวเองถนัด ซึ่งการทำงานจะมีการประสานงานพูดคุยกันตลอด

ตอนที่ 1 มีการเปิดหัวที่ดี กระชับ แต่ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อยอย่างการตัดต่อ หรือแอคติ้งที่ทำให้ผู้ชมบางกลุ่มไม่ซื้อ จึงกลายเป็นประเด็นหลักที่เกิดกระแสลบเกี่ยวกับซีรีส์นี้ในบางคอมมูนิตี้ แม้ในญี่ปุ่นตามหน้าทวิตเตอร์ หรือสื่อโซเชียลต่าง ๆ อาจจะชินกับภาพนี้จนเป็นเรื่องปรกติ แต่สำหรับแฟนคลับหลายคนแล้วจะมองว่าเทียบกับหลายเรื่องก่อนหน้ายังไม่ได้เลย

แม้จะมีเสียงวิจารณ์เรื่องการแสดงและถ่ายทอดบทบาทที่ดูไม่สมองค์ประกอบในช่วงแรก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพัฒนาการของนักแสดงแต่ละคนค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา กระทั่งในช่วงท้าย + มูฟวี่ ก็สามารถลบกระแสที่เคยเกิดขึ้นในตอนแรกได้

ทว่าความดีงามในเรื่องของการแสดงผมกลับยก MVP ให้กับตัวละครอย่าง Gilion หรือบอสใหญ่ของเรื่อง ที่ตอนแรกคิดว่าจะเป็นตัวร้ายดาด ๆ ออกมาให้บอสใหญ่สุดเชือดในช่วงกลาง แต่ผมกลับคิดผิด เพราะทุกบทที่เขาปรากฏตัว คือมันมีอะไรน่าสนใจเยอะมาก ทั้งปริศนา คาดเดาไม่ได้ มุกตลกหน้าตาย หรือแม้กระทั่งความโหดเหี้ยมที่ซ่อนเอาไว้ใต้แรงปรารถนาที่อยากให้โลกนี้เต็มไปด้วยทองคำ

ลากยาวไปกระทั่งตอนจบของเรื่อง ก็ยังสัมผัสได้ว่าเป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่แบกซีรีส์ได้อย่างสมบูรณ์ เรียกได้ว่าใช้คนถูกงานก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะถ้าจัด Tier List นักแสดงที่ชื่นชอบที่สุดในนี้ ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนจะให้เขาติดหนึ่งในสามอย่างแน่นอน

ต่อมาคือการดำเนินเรื่อง ตรงนี้ “โดยส่วนตัว” ผมมองว่าเป็นการเล่าเรื่องที่หัวไปทาง หางไปอีกทาง ส่วนหนึ่งคือการให้มี Head Writer สองคนทำงานร่วมกัน คุยกัน แต่ตอนเอางานมาประกอบกันหรือตอนเอาไปตีความ กลับไม่ได้ประสานกันแนบสนิทเท่าไหร่ ปัจจัยหนึ่งที่เข้าใจได้คือ “ตารางของเล่น” ที่ถูกออกแบบจากสปอนเซอร์ จนบีบให้กำหนดการออกร่างใหม่ หรือไอเท็มพิเศษต้องอยู่ภายใต้ตารางดังกล่าว เมื่อมีใบสั่งมาแน่นขนาดนี้ อิสระในการเขียนก็ลดลงตามไปด้วย

ประเด็นนี้ผมไม่กล่าวโทษทีมงานนะ แต่ผมกลับมองว่าเค้าทำงานตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างเต็มที่แล้วมากกว่า ปัญหาจริง ๆ คือฝ่ายการตลาดอยากจะเน้นไปที่ตัวสินค้า มากกว่าการสร้างความไหลลื่นให้กับเนื้อหา และผลประกอบการที่ได้คือยอดจำหน่าย Trading Card ดีมาก ส่วนสินค้าอื่นยังไม่เป็นที่นิยมนักเมื่อเทียบกับหลายเรื่องก่อนหน้า แต่กระนั้นยอดจำหน่ายก็ยังดูดีและสดใสกว่าที่เคย (เพราะการ์ดนั่นล่ะ) พวก DX บางส่วนก็ผลักไปเป็นสินค้า P-BANDAI เพื่อยอดจำหน่ายที่แน่นอนกว่าการสร้างไอเท็มทั่วไปให้ออกมาล้นตลาด อยากจะให้เข้าใจกันในเชิงนี้ล่ะครับ

เอ่าพี่… เรื่องอื่นเขาไม่กดดันเหมือนกันเหรอ?

ใช่ครับ เรื่องอื่นก็กดดัน แต่เรื่องนี้อย่างที่เขียนไปในบรรทัดก่อนหน้าว่าปัญหาจริง ๆ อาจจะมาจากการมี Head Writer สองคนก็เป็นได้ (เป็นมุมมองส่วนตัว อย่าเอาอ้างอิงต่อ) เหตุเพราะผมเองก็ติดตามผลงานของทั้งสองท่านมาหลายเรื่อง เรียกได้ว่าไฮป์ตั้งแต่เห็นชื่อทีมงานแล้ว แต่กลายเป็นว่าพอเอามามัดรวมกัน ความสนุกกลับขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างที่ได้รับชมกัน

ตรงนี้เอาเป็นว่าให้ไปสืบค้นกันต่อไปครับ ส่วนตัวผมโอเคกับงานเก่า ๆ ของพวกเขานะ แต่งานในเรื่องนี้คือพอเอามาประสานกัน มันทั้งมึน ทั้งงง แถมด้วยประเด็นที่ว่าต้องเน้นขายของกันแบบฮาร์ดเซล ทำให้ช่วงเนื้อหาที่สำคัญโดนอัดเป็น WinRAR ในหกตอนสุดท้าย เอาให้คนดูต้องมานั่งทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรกันอีก

อะไรที่น่าจะขยี้หนัก ๆ กลับปล่อยลอย อะไรที่ไม่สำคัญก็เน้นจนรู้สึกว่าไม่ต้องมีก็ได้ ยกตัวอย่างประเด็นขององค์กรแปรธาตุ, กำเนิดไฟดำ, ลาเคซิส VS สปาน่า พวกนี้ในตอนหลังอัดเร็วจนยับ มีความสนุกก็จริง แต่ขาดพื้นฐานที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอินไปกับสิ่งที่ต้องการจะเล่า พอนำเสนอออกมาคือรู้สึกแบบ เอ้า! จบแล้วเหรอ? นี่ไม่นับเรื่องศาสตร์การแปรธาตุที่เป็นธีมหลักของเรื่องนะ คือไม่ได้เน้น ไม่ได้ขยี้ และเอามาใช้จนคนแซวว่าเป็นโรงเรียนสอนเวทมนต์มากกว่าสอนเรื่องนี้เสียอีก

มาถึงส่วนที่รักกันบ้าง นับหนึ่งเลยคือเพลงประกอบครับ ทุกเพลงที่ใช้คือติดหู และเข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่อง ยิ่งได้ BACK-ON มา Build-Up ในส่วนนี้ มันยิ่งทำให้ซีรีส์มีความน่าจดจำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเสน่ห์ของเพลงประกอบที่เรียกได้ว่าขาดหายไปหลายปีแล้ว ถูกนำกลับมาใช้อย่างเต็มที่อีกครั้ง ผมว่าใครที่บอกว่าไม่ชอบเรื่องนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงที่ใช้คือดีงามทุกเพลง

ส่วนต่อมาคือเนื้อเรื่อง ถูกต้องครับ ผมหมายถึงเนื้อเรื่องจริง ๆ ใครบอกว่าสิ่งนี้ไม่ไหวจะเคลียร์ อันนี้ผมเห็นด้วย แต่ถ้าลองตัดเอาเฉพาะตอนที่น่าสนใจมาถกกัน หลายตอนทำได้ดี ทั้งตอนของเดย์เบรคที่แบบ เฮ้ย! เจ๋งทั้งดีไซน์ ทั้งคอนเซ็ปต์ หรือการมาถึงของเลเจนด์ที่ออกลูกเบียวสุด ๆ แต่ก็เซอร์วิสได้ตรงใจแฟนหลายคน ยังไม่นับตอนที่ซึ้ง หรือเกี่ยวกับความรัก ที่เล่าเรื่องออกมาเอาอยู่ และนักแสดงก็เข้าถึงบทกันดีอีกต่างหาก หรือจะว่ากันถึงช่วงไฟนอลพาร์ทก็ได้ คือถ้าปูเนื้อเรื่องให้แน่นอีกนิด ผมคิดว่าช่วงท้ายจะสร้างอิมแพคได้ดีกว่าหลายเรื่องที่ผ่านมาแน่นอน

แต่เมื่อตอนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาพวกนี้จบลง มันก็ถูกลดเกียร์จนกลับมาเนือยเหมือนเคย โดยสาเหตุก็อาจจะมาจากพารากราฟบนโน้น ที่บอกว่าทีมงานมีหลายฝ่าย อาจจะเกิดความเกรงใจกัน พี่ไปซ้ายเหรอ หนูไปขวานะ หนูว่าแบบนี้ดีกว่า พี่ว่าแบบนี้น่าจะได้นะ คือมันก็ดีทั้งคู่ครับ แต่จะดีกว่านี้ถ้าให้ใครสักคนเด็ดขาดและชี้ชัดถึงแนวทางเหมือนหลายเรื่องก่อนหน้า


สรุป:

Gotchard เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้ผมเห็นแง่มุมหลายด้านของเหล่าแฟน ๆ และคอมมูนิตี้ เฉกเช่นหลายครั้งที่มีทั้งคนรักและคนไม่ชอบ แต่เพราะสื่อโซเชียลที่เปราะบาง รวมไปถึงการขาดวิจารณญานที่ดี ทำให้กระแสของเรื่องนี้ค่อนข้างไปในทางที่เรียกว่า “เสียงแตก” โดยจะมีทั้งกลุ่มที่ชอบทุกแง่มุมของการนำเสนอ และกลุ่มที่เห็นแล้วส่ายหน้ากับการถ่ายทอดเรื่องราวแบบขัดใจคนดู

ไม่มีกลุ่มไหนผิดครับ ความชอบและความไม่ชอบมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล มันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และแนวคิดที่มีต่อซีรีส์ ฝั่งที่อวยสุดลิ่ม ผมได้อ่านแนวคิดที่สะท้อนออกมาแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง หรือจะเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบ ผมเองก็มองว่าสิ่งที่เค้าพูดนั้นไม่ได้ผิดเลยแม้แต่น้อย

คาเมนไรเดอร์ก็อตชาร์ดคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการมุ่งไปข้างหน้าของจิตวิญญานวัยรุ่น โดยมีผู้ใหญ่และสิ่งต่าง ๆ คอยหนุนหลัง เนื้อหาที่เล่าออกมาพยายามจะโฟกัสถึงตัวตนของ Ichinose Houtaro ที่อยากจะสื่อให้คนดูเข้าใจว่า Gotcha! ของเขาคืออะไร อีกทั้งเป็นการเปิดโลกใหม่ของไรเดอร์คนที่สอง ที่เป็นทั้งนางเอกของเรื่องและคาเมนไรเดอร์ รวมไปถึงการสร้างคาเมนไรเดอร์เลเจนด์ผู้เป็นตัวแทนของ Kamen Rider Decade แห่งยุคใหม่

ซีรีส์นี้เต็มไปด้วยพลังบวกและความสดใส เพลงประกอบสุดเร้าใจ แม้จะมีบาดแผลใหญ่ในช่วงของการเปิดตัว แต่ก็ถูกแก้ไขได้เรื่อยมาจนผู้ชมรู้สึกชินตา หากตั้งคำถามส่วนตัวว่ารู้สึกอย่างไรกับซีรีส์นี้ มีหลายอย่างที่ผมชอบมาก และอีกหลายอย่างที่ผมรู้สึก bruh

เรื่องนี้ผมให้อยู่ในระดับสนุก แต่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้ถึงกับแย่ แต่ก็ยังทำให้ผมอินกับเนื้อหาไม่ได้อย่างเต็มที่ ดูไปก็ลุ้นไปว่ามันจะทำอะไรแปลก ๆ ออกมาอีกไหม หรือมี 14 ล้านวิธีทำให้เรื่องมันเจ๋ง แต่ทีมงานดันเลือก 1 วิธีที่ทำให้เรื่องมันอ่อนด๋อยได้แบบไม่รู้ตัว กระนั้นก็ยังให้ความบันเทิงได้เหมือนกับคาเมนไรเดอร์ซีรีส์ทั่วไปครับ

J-HERO.COM SCORE: Gotcha! / 10