[J-HERO.COM Review] Kamen Rider Geats: ผู้ชนะคนสุดท้ายก็คือฉัน

ชื่อซีรีส์: Kamen Rider Geats (仮面ライダーギーツ)
ออกอากาศ: 4 กันยายน 2022 – 27 สิงหาคม 2023 (49 ตอน)
เพลงเปิด:“Trust・Last” โดย Koda Kumi และ Shonan no Kaze
นำแสดงโดย: Kan Hideyoshi, Satō Ryūga, Hoshino Yuna, Aoshima Kokoro,Mokudai Kazuto, Shida Nene
Producer: Takebe Naomi และ Inoue Chihiro
Writer: Takahashi Yuya


เรื่องย่อ:

“Desire Grand Prix” เกมที่เหล่าผู้เล่นจะต้องแปลงร่างเป็น Kamen Rider เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ ทั้งสะสมคะแนน ปกป้องภัยพิบัติ รวมไปถึงต่อสู้กับศัตรูอย่าง “Jyamato” โดยมีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะ และรางวัลคือ “โลกที่พวกเขาปรารถนา”

“Ukiyo Ace” ผู้เล่นมากประสบการณ์ที่เป็นดั่ง Star of the Star of The Star พร้อมกับ Azuma Michinaga ผู้เล่นอีกคนผู้เป็นแค่ที่สองรองจาก Ace ได้ปรากฎตัวต่อหน้า “Sakurai Keiwa” หนุ่มจบใหม่ที่ไฟแรงกำลังหางานทำ และ “Kurama Neon” สาวน้อยอินฟลูเอนเซอร์ผู้ติดตามหลักล้าน ก่อนจะพิชิตเกมและสร้างโลกใหม่ให้ทั้งสองได้เห็น ต่อจากนั้นคือเกมต่อไปที่จะคอนตินิวแบบไม่สิ้นสุด พวกเขาจะตามหาความหมายของเกม DGP นี้ได้หรือไม่? และชัยชนะที่พวกเขาปรารถนาล่ะ จะทำมันได้สำเร็จหรือเปล่า?

Review:

เข้าสู่ยุคเรวะในปีที่สี่ แม้การเติบโตทางด้าน Marketing ที่มียอดกราฟสูงขึ้น ทว่ากลับสวนทางต่อ “กระแสนิยม” ในตัวเฟรนไชส์ Kamen Rider เพราะมูลค่าการขายที่สูง ไม่ได้ทำให้แบรนด์นี้แข็งแกร่งขึ้นกว่าแต่ก่อน หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ความนิยมและภาพจำต่าง ๆ ของคาเมนไรเดอร์ก็จะค่อย ๆ เสื่อมสลายลง

นั่นจึงทำให้มือเขียนบท Takahashi Yuya ตัดสินใจสร้างเรื่องราวที่เน้นไปทางการพัฒนาตัวคาแรคเตอร์ให้น่าจดจำ ด้วยการฝังลายเซ็นของตัวเองที่เคยทำเอาไว้กับ Kamen Rider Ex-Aid และ Kamen Rider Zero-One จับเอาตัวละครมากมายมาร้อยเรียงเรื่องราว และสร้าง “ภาพลักษณ์” ของตัวละครให้เด่นที่สุด นั่นจึงทำให้ซีรีส์นี้มีตัวละครที่ชื่อว่า “Ukiyo Ace” เกิดขึ้นมา

และใส่เอกลักษณ์การถ่ายทอดเนื้อหาตามสไตล์ของตนด้วยการหยิบเอา “เกมออนไลน์” มาผูกไว้กับเนื้อเรื่อง โดยให้ทุกตัวละครมีเป้าหมาย รวมไปถึงทำทุกวิถีทางเพื่อชัยชนะของตน อีกทั้งบทสัมภาษณ์ที่เคยมีไว้ก่อนหน้าเกี่ยวกับการใช้สูตรสำเร็จของ Kamen Rider Ryuki มาผสม แต่ลดทอนความดราม่าลงให้เหล่าไรเดอร์เน้นไปที่การ “ทำภารกิจ” แทน

จุดเด่นของเรื่องนี้ถ้าไม่นับการสร้างคาแรคเตอร์ให้น่าจดจำแล้ว อีกด้านที่ทำได้ดีไม่แพ้กันก็คือการสร้าง “ปม” เนื้อหาให้ทุกตัวละครได้คลายออกในมุมของตนเอง เราจะได้เห็นภาพชัดเจนถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมเกมนี้ โดยมีเบสจาก “สภาพสังคม” ที่อยู่ในโลกแห่งความจริง และการฝ่าฟันอุปสรรคของมนุษย์ปุถุชนที่เปรียบเสมือนตัวละครในเกมนั้น

ยังไม่นับภาพสะท้อนในระดับที่ตอบโจทย์แฟนคลับด้วยการให้ตัวละครแต่ละตัว “เปรียบเสมือนความชอบ” ของเหล่า “แฟนคลับคาเมนไรเดอร์” ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณชอบพระเอกเก่งเทพสไตล์ Tendo Souji คุณจะประทับใจ Ukiyo Ace ได้ไม่ยาก แต่ถ้าชอบสายอึดถึกทน คุณอาจจะชูป้ายไฟให้ Michinaka Azuma หรือถ้าชอบสไตล์คูกะแบบ Godai Yusuke คุณก็จะรักตัวละครสุดอุดมการณ์แบบ Sakurai Keiwa

https://i0.wp.com/www.kamen-rider-official.com/uploads/geats_summary/thumbnail_image4/29/6e0e2f6e-795d-47c3-9316-efcb623e946e.jpg?ssl=1

การดำเนินเรื่องของ Geats นั้นเน้นไปที่การสร้างความ “ว้าว” กับตัว Ukiyao Ace เป็นหลัก เพราะพัฒนาการต่าง ๆ ของเรื่องจะอิงโดยมีตัวละครนี้เป็นศูนย์กลาง ผู้ชมจะได้เพลินเพลินพร้อมกับอุทานแบบ “เฮ้ย! ได้ไงวะ” อยู่เสมอ ซึ่งคาแรคเตอร์แบบนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นนับตั้งแต่ Kamen Rider Kabuto แล้ว

ส่วนตัวละครอื่นก็มี Development ที่ทั้งน่าจดจำและมาแบบอิหยังวะ ระหว่างตอนที่ออกอากาศในหมู่สังคมผู้ชมโทคุซัทสึเองก็มีการถกเถียงอยู่เป็นระยะ ทั้งแบบให้ความเห็นเชิงบวก หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็เกลียดไปเลย ทว่าไอ้ความเสียงแตกนี่ล่ะที่ทำให้คาเมนไรเดอร์เรื่องนี้กลายเป็นที่กล่าวถึงใน SNS ของแฟนคลับได้เกือบทุกสัปดาห์

มาถึงส่วนที่ไม่ชอบบ้าง อันที่จริงจุดด้อยหลักของซีรีส์นี้คงหนีไม่พ้นการไม่ยอมทิ้งลายเซ็นเดิมของ Takahashi Yuya ที่มีความน่าเบื่อในการเล่าเรื่องช่วงกลาง หรือการพัฒนาตัวละครเสริม จะเรียกว่าเป็นการตลาดก็ไม่เชิง เพราะตัวละครเสริมอื่น ๆ จะมาในซีรีส์แบบกระท่อนกระแท่น ก่อนจะไปเฉลยอีกทีใน V-Cinext ที่ทำได้ดีกว่าตัวซีรีส์เสียอีก

นี่ยังไม่นับคอนดิทชั่นประหลาด ๆ ที่ถูกใส่ไว้ในเรื่องแบบ “ขัดใจผู้ชมส่วนใหญ่” เช่นประเด็นของตัวละครบางตัวที่เบาบางจนไม่รู้จะใส่มาทำไม (น่าจะขายสินค้าใน Store) หรือตัวละครบางตัวน่าดันให้สุด แต่ก็หักหลบหักมุมจนคนดูต้องเกาหัวแกรก ๆ ว่าเออทำไปได้เนอะ

กระนั้นจุดด้อยต่าง ๆ เมื่อเทียบกับความสำเร็จในการสร้าง “ภาพจำ” ยังถือว่าคุ้มมากกว่าเสีย เพราะหลังจากซีรีส์จบ กระแสของเรื่องนี้ยังไปต่อได้อีกหน่อยจากอานิสงส์ของเนื้อหาที่ยังเฉลยไม่หมด และพร้อมจะไปต่อใน TTFC / V-Cinext

สรุป:

ถ้าคุณเป็นแฟนคาเมนไรเดอร์ซีรีส์มานานพอ แล้วคุ้นเคยกับงานของ Takahashi Yuya ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งคุณจะ “อิ่มตัว” กับงานของเขา เพราะ Story Development นี่แทบไม่ต่างจาก Kamen Rider สองเรื่องก่อนหน้าที่เคยสร้างเอาไว้เลย ใครตายสักพักเดี๋ยวก็ฟื้น ตัวเอกเป็นสายแบกรับจบทุกกรณี และตัวประกอบอื่นที่มีเส้นเรื่องแข็งแรง แต่ไปง่อยในส่วนปิดท้าย

ทว่าทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถลบล้างความสนุกที่ Kamen Rider Geats ได้สื่อสารเอาไว้ เพราะถ้าคุณเบื่อกับพระเอกสายพยายาม คุณดูเรื่องนี้ก็จะเห็นพระเอกสายเทพ เทพแบบเอาไปข่มเรื่องอื่นกันสนุกปาก #ฮา ส่วนฉากแอคชั่นและองค์ประกอบอื่น ก็ทำได้ดีสมกับเป็นเรวะคาเมนไรเดอร์ครับ

หลังจบซีรีส์ ผมเห็นกลุ่มแฟนคลับในไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มชัดเจน คือหนึ่งนายแบกซีรีส์ที่ยกให้เป็นระดับขึ้นหิ้ง กับสองคือชาวสวนที่พร้อมจะงัดกับคนกลุ่มแรกว่ามันก็ไม่ได้สนุกอย่างที่อวยไว้ ซึ่งความแตกต่างนี้ผมมองว่าเกิดจากระยะเวลาของการติดตามด้วยส่วนหนึ่งตามที่ยกไว้ในพารากราฟแรก ว่าถ้าคุณชอบงานของมือเขียนบทและทีมงานชุดนี้ คุณก็จะรักมันสุด ๆ ไปเลย แต่ถ้าคุณเบื่องานของเขา คุณจะรู้สึกหมั่นไส้ Ukiyo Ace เป็นบ้า

เอาเถอะครับ สุดท้ายแล้วซีรีส์นี้ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างฐานแฟนคลับตัวละครตามแผนที่เกริ่นเอาไว้ในบรรทัดบน ๆ ส่วนความนิยมในภาพรวม ก็ให้ยอดขายเป็นตัวตัดสินกันไปก็แล้วกัน

r/KamenRider - Kamen Rider Toy Sales (Updated with Gotchard Q1)

J-HERO.COM Score: Hilight 9/10