A.I. Artificial Intelligence โลกแห่งปัญญาประดิษฐ์จากวิสัยทัศน์ของสตีเฟ่น สปีลเบิร์ก

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมรู้สึกว้าวเป็นอย่างมากเลยนะที่ซีรีส์มาสค์ไรเดอร์นำไอเดียของ “ปัญญาประดิษฐ์” มาใช้เปิดยุคสมัยใหม่แบบนี้ เพราะว่ามันเป็นธีมที่มันมีความเป็นยุคใหม่มากเลยนะ และถ้าใครว่าปัญญาประดิษฐ์คืออะไร? งั้นผมจะอธิบายแบบง่ายๆเป็นภาษาชาวบ้านให้ฟัง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence มันก็คือ หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรที่มีความสามารถในการเรียนรู้ คำนวณ วิเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อซัพพอร์ตความต้องการในด้านต่างๆของมนุษย์ พูดง่ายๆก็คือเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถคิดนู่นคิดนี่ และช่วยเหลือเราได้เหมือนมนุษย์ปกติเลย

โดยปัญญาประดิษฐ์จะแบ่งออกเป็นสามประเภท ก็คือ

1. ปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อน (คนละอย่างกับปัญญาอ่อนนะครับ) ซึ่งจะมีองค์ความรู้ที่แคบ แต่เฉพาะทางมากๆ มักจะเป็นหุ่นยนต์สำหรับใช้แรงงานหรือประกอบอาชีพต่างๆแทนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนสังคม อย่างเช่น หุ่นยนต์หมอที่มีแต่องค์ความรู้ในการรักษาโรค หุ่นยนต์แม่ครัวที่มีแต่องค์ความรู้ในการประกอบอาหาร เป็นต้น

2. ปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป ซึ่งจะมีองค์ความรู้ที่หลากหลายขึ้น เพิ่มเติมคือเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์จนบางทีก็สามารถสื่ออารมณ์ได้เหมือนกัน ปัญญาประดิษฐ์แบบนี้จะมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์เลย มักจะเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เช่น หุ่นยนต์เพื่อนสำหรับพาไปเที่ยว หุ่นยนต์เด็กสำหรับการเลี้ยงดู หุ่นยนต์นักรักสำหรับการทำเรื่องอย่างนั้น หรือถ้าให้พูดง่ายๆก็คือ พวกหุ่นยนต์ตัวเอกในหนังไซไฟทั้งหลาย ส่วนมากก็ล้วนแต่เป็นปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป

3. ปัญญาประดิษฐ์แบบเข้ม ซึ่งจะมีองค์ความรู้และความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ พูดง่ายๆก็คือปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อนกับแบบทั่วไปที่สามารถเรียนรู้หรือได้รับการอัพเกรดจนมีศักยภาพที่มากขึ้น หรือถ้าให้ยกตัวอย่างง่ายกว่านั้นแบบชนิดที่ว่าแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยก็คือ ไอ้พวกหุ่นยนต์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ มีความสามารถทางการรบที่น่าสะพรึงกลัวจนสามารถกวาดล้างมนุษย์ชาติให้เหี้ยนได้ทันตาเห็น

AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อเล่นหมากล้อม ซึ่งมีองค์ความรู้ที่เก่งกาจจนทำให้อีเซดง (บุคคลที่นั่งเล่นหมากล้อมกับ AlphaGo ในภาพ) ซึ่งเป็นแชมป์หมากล้อมระดับโลกต้องกุมขมับมาแล้ว

ที่จริงแล้วแนวคิดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ได้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วครับ และก็ได้มีการพัฒนาขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์มันเกิดขึ้นจริงแล้วครับ แต่จะยังมีแค่ตัวซอฟท์แวร์ที่ลิ้งค์กับอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้งาน พูดง่ายๆก็คือมันยังเป็นแค่ดวงจิตที่สิงอยู่ในเครื่องจักรธรรมดาๆ ยังไม่มีสร้างกายหยาบ หรือที่เรียกว่าฮิวแมนนอยด์ เพื่ออัพโหลดดวงจิตเข้าไปให้มันสามารถลุกออกมาเดินเพ่นพ่านปะปนกับมนุษย์เหมือนในหนังนะครับ ซึ่งหนึ่งในดวงจิตที่สมบูรณ์แล้วในปัจจุบัน ก็มีอัลฟ่าโกะ (AlphaGo) ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการเล่นหมากล้อม โดยนอกจากผู้พัฒนาจะป้อนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเล่นหมากล้อมเข้าไปแล้วเข้าไปแล้ว ยังส่งมันเข้าไปเล่นหมากล้อมออนไลน์กับคนจริงๆ จนมันได้ศึกษาองค์ความรู้ด้านหมากล้อมระหว่างเล่นกับคนจริงๆผ่านเกมออนไลน์มากขึ้นๆ จนแข็งแกร่งชนิดที่ว่าสามารถสู้กับแชมป์ระดับโลกได้อย่างสูสีเลย

A.I. Artifical Intelligence นำแสดงโดย ฮาลีย์ โจเอล ออสเมนท์ (ซ้าย) และ จู๊ด ลอว์ (ขวา)
และกำกับภาพยนตร์โดย สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก (กลาง)

และภาพยนตร์ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำให้ผม หรือหลายๆคน ได้เข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น นั่นก็คือเรื่อง A.I. Artificial Intelligence หรือชื่อภาษาไทยก็คือ จักรกลอัจฉริยะ ฉายเมื่อปี 2001 ตัวเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า “Super-Toys Last All Summer Long” ซึ่งเขียนโดย ไบรอัน อัลดิส ต่อมา สแตนลีย์ คูบริก ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้มาทำภาพยนตร์ พร้อมกับดึงอัลดิสมาเขียนบท แต่พอพัฒนาบทไปได้สักพักก็เกิดปัญหาจนอัลดิสถอนตัวออกจากโปรเจกค์ จึงทำให้คูบริกไปดึงตัว เอียน วัตสันมาเขียนแทน เวลาต่อมา คูบริกเสียชีวิตลงในปี 1999 จึงทำให้สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก ซึ่งเป็นผู้กำกับที่คูบริกหมายมั่นว่าจะให้กำกับเรื่องนี้ และมีส่วนในการเบรนสตอร์มในช่วง Pre-Production ของภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงที่คูบริกยังมีชีวิตอยู่ ได้เข้ามารับไม้ต่อในการเนรมิตเรื่องราวของปัญญาประดิษฐ์นี้ให้โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม โดยการนำไอเดีย เรื่องสั้นต้นฉบับและบทบางส่วนมาเขียนให้สมบูรณ์

เท่ากับว่า ทุกสิ่งที่เราได้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันเกิดจากทรรศนะของบุคคลถึง 4 บุคคลด้วยกัน ได้แก่ อัลดิส – เจ้าของบทประพันธ์ดั้งเดิม และผู้เขียนบทคนแรก, คูบริก – เจ้าของไอเดียต่างๆที่จะปรากฏในหนัง และเป็นผู้ตั้งชื่อภาพยนตร์, วัตสัน – ผู้เขียนบทต่อจากอัลดิส และ สปีลเบิร์ก – ช่วยคิดไอเดียต่างๆไปพร้อมกับคูบริก ผู้รับไม้ต่อจากคูบริก ผู้เขียนบทฉบับสมบูรณ์ ผู้กำกับ หรือพูดง่ายๆก็คือคนที่รับทรรศนะของบุคคลทั้งสามไปทำต่อให้เป็นภาพยนตร์โดยสมบูรณ์

(ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดหนักเลยครับว่า ชื่อบทความควรจะยกเครดิตให้ใครเป็นหลักดี? เพราะทั้งสี่คนต่างก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา แต่สุดท้ายผมก็เลือกสปีลเบิร์ก เพราะว่าแกเป็นคนที่ทำให้มันสมบูรณ์จริงๆ แม้ว่าตัวแกอยากจะยกเครดิตให้กับคูบริกก็ตาม)

เกาะแมนฮัตตันในภาพยนตร์ ที่กลายเป็นเมืองใต้บาดาลไปแล้ว….

เรื่องในภาพยนตร์เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 22 ซึ่งโลกของเรานั้นไม่มีหุ่นยนต์แมวสีฟ้า ไม่มีไทม์แมชชีน ไม่มีใบพัดเล็กๆที่ติดหัวแล้วทำให้เราบินได้ แต่ที่มีแน่ๆก็คือ ภาวะโลกร้อนที่เกินเยียวยาจนส่งผลให้น้ำแข็งละลาย ทำให้แผ่นดินที่ติดผืนน้ำจมลงไปอยู่ใต้บาดาล และประชากรมนุษย์โลกก็เริ่มมีปัญหา ประเทศโลกที่ 3 อดอยากจนตาย ประเทศโลกที่ 1 สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ก็ต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมปริมาณของประชากร พวกเขาได้ออกกฎเลยว่า ถ้าจะมีบุตร ต้องได้รับอนุญาตจากเบื้องบนแล้วเท่านั้น และด้วยนโยบายการควบคุมประชากรนี้เอง ทำให้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อนได้เข้ามาทดแทนแรงงานในด้านต่างๆเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป

หลังจากที่มีหุ่นยนต์สำหรับทดแทนแรงงานในสังคมแล้ว มนุษย์ก็ได้เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างหุ่นยนต์สำหรับทดแทนสิ่งที่เรียกว่าความรัก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้อกฎหมายที่ต้องขออนุญาตทางรัฐก่อนถึงจะมีบุตรได้ จึงทำให้พวกเขาเริ่มที่จะสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เด็กสำหรับคู่รักที่ประสงค์อยากจะเลี้ยงบุตร แต่ไม่อยากรอกระบวนการขออนุญาตเป็นเวลานานๆ

และหุ่นยนต์เด็กตัวแรกก็ได้ถูกส่งไปที่บ้านของครอบครัวสวินตัน ซึ่งลูกชายของบ้านได้กลายเป็นเจ้าชายนิทราไปแล้ว ทำให้โมนิก้าผู้เป็นแม่รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก และการเข้ามาของเดวิดในช่วงแรกๆนั้น มันก็ทำให้เธอไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะ 1. ไม่มีใครทดแทนลูกชายของเธอได้ และ 2. เดวิดเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่มนุษย์ แต่แล้วก็ถึงจุดหนึ่งที่เธอแน่ใจแล้วว่าจะเลี้ยงดูเดวิดแบบจริงจัง เธอจึงได้เข้ารหัส(ซึ่งน่าจะเป็นโปรแกรมที่ยังไม่มีในปัญญาประดิษฐ์ตัวไหนในเรื่อง) เพื่อยืนยันสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ปกครองของเจ้าหนูหุ่นยนต์นี้ไปตลอดชีวิต เหมือนกับเป็นบุตรของตัวเอง และเมื่อทำการเข้ารหัสเสร็จ เดวิดที่ถูกป้อนข้อมูลชุดแรกว่าหญิงสาวในบ้านหลังนี้คือคุณแม่ของเขา ก็ได้แสดงความรักให้กับเธอในฐานะบุตรอย่างเต็มเปี่ยม และระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตต่างๆมากมายภายในบ้าน ด้วยสารพัดข้อมูลต่างที่คนในบ้านอัพโหลดเข้าไปในตัวเขาอย่างไม่รู้ตัว จึงทำให้เขาเริ่มทำสิ่งต่างๆ ที่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อนไม่น่าจะทำได้….

โมนิก้าได้เข้ารหัส เพื่อให้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ตรงหน้าเธอกลายเป็นบุตรของเธออย่างสมบูรณ์

เพราะมันคือหุ่นยนต์เด็กไงครับ และเด็กโดยปกติก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่บอกคุณว่า พ่อครับ ผมรักพ่อนะครับ แม่ครับ ผมรักแม่นะครับ ไม่… เด็กมันไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำตัวน่ารักให้คุณพ่อคุณแม่เอ็นดูตลอดเวลา แต่ยังเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆที่จะเข้ามาในชีวิต เพื่อที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และปัญญาประดิษฐ์เด็กก็เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ว่า พวกเขาจะเป็นเด็กไปตลอดอายุการใช้งาน

จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่คนในบ้านรู้สึกหวาดกลัวกับเดวิดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการวิเคราะห์องค์ความรู้ที่เข้ามาจนเผลอทำอะไรแปลกๆ ซึ่งถ้าเป็นเด็กปกติ ก็อาจจะพอให้อภัยได้ แต่สำหรับมนุษย์แล้ว ทุกเรื่องแปลกๆมันจะน่ากลัวไปซะหมดถ้ามันเป็นการกระทำที่เกิดจากหุ่นยนต์ ครั้นจะขายเดวิดต่อให้คนอื่นก็ทำไม่ได้ เพราะเข้ารหัสแสดงความเป็นเจ้าของอย่างถาวรแล้ว ทำให้เมื่อถึงจุดที่ไม่อยากจะเลี้ยงดูเขาต่อไปแล้ว ก็ต้องส่งไปทำลายทิ้งที่บริษัทผลิตอย่างเดียว และด้วยเหตุนี้ทำให้โมนิก้ารู้สึกสองจิตสองใจ ใจนึงก็ไม่อยากจะเลี้ยงดูเขาแล้ว แต่อีกใจก็ไม่อยากที่จะให้เขากลายเป็นเศษเหล็ก จนเธอได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่สาม ก็คือ… ปล่อยเดวิดไว้ในป่าตามยถากรรม…

เมื่อเธอหวาดกลัวกับการกระทำแปลกๆของเจ้าหุ่นเด็ก จึงทำให้โมนิก้าตัดสินใจทิ้งเขาไว้ในป่า….

แน่นอนว่าเดวิดที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีความรู้สึกเหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่งหลังจากการเข้ารหัส ก็ได้รู้สึกเสียใจที่หญิงสาวที่ถูกโปรแกรมว่าเป็นแม่ของเขาได้ทิ้งกันไปอย่างไร้เยื่อใย เพียงเพราะเหตุผลที่เขาเข้าใจแค่ว่า ตัวเองไม่ใช่มนุษย์ จนเขาก็ได้คิดหาทางแก้ปัญหาด้วยองค์ความรู้ที่เขามีอยู่ในหัว แต่ทว่าหนึ่งในองค์ความรู้ที่เขาได้รับมาตลอดที่อยู่บ้านหลังนี้ นั่นก็คือ นิทานเรื่องพิน็อคคิโอที่โมนิก้าได้เล่าให้ฟังก่อนนอน ซึ่งมีเนื้อหาว่าตัวพิน็อคคิโอนั้นได้เจอกับบลูแฟร์รี่ และบลูแฟร์รี่ก็ได้เสกให้เจ้าหุ่นไม้นี้กลายเป็นคนจริงๆ มันเลยทำให้เดวิดตัดสินใจที่จะออกเดินทางเพื่อตามหาบลูแฟร์รี่ เพื่อขอพรให้ตัวเองกลายเป็นมนุษย์ โดยหวังว่า ถ้าตนได้กลายเป็นมนุษย์แล้ว คุณแม่จะกลับมารักเขาเหมือนเดิม

นั่นแหละครับเนื้อหาของเรื่อง ต้องเข้าใจนะครับว่าปัญญาประดิษฐ์เด็กคงไม่ได้ถูกโปรแกรมให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างนิทานกับเรื่องจริง ขนาดเด็กจริงๆบางคนยังแยกแยะไม่ได้เลย ยกตัวอย่างผมตอนเด็กๆเนี่ย ผมเคยเข้าใจมาตลอดว่าหุ่นยนต์ยักษ์ในซูเปอร์เซนไทเป็นหุ่นยนต์ยักษ์จริงๆเลย แต่ดีนะที่คุณแม่เล่าพิน็อคคิโอให้ฟัง ถ้าขืนเล่าดราก้อนบอลนะ คงได้ตามหาดราก้อนบอลทั้งเจ็ดลูกกันให้วุ่น จนเผลอๆหนังคงมีความยาวเท่าอเวนเจอร์สภาคสุดท้าย ต้องขอบคุณคูบริกจริงๆที่เลือกเอาไอเดียของพิน็อคคิโอ้มาใส่

เดวิดได้ออกเดินทางตามหาบลูแฟร์รี่ โดยมีเท็ดดี้ ตุ๊กตาหมีที่โมนิก้าทิ้งไว้ให้เขา และ โจ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับขายบริการทางเพศ เป็นเพื่อนร่วมทาง

ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะเห็นได้ว่า แม้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญในสังคมมากแค่ไหน แต่มนุษย์จำนวนนึงก็ยังคงมีความหวาดกลัวในตัวมันอยู่ แม้ว่ามันจะเป็นแค่ปัญญาประดิษฐ์แบบอ่อนที่ไม่มีโปรแกรมคำสั่งที่จะกวาดล้างมนุษยชาติได้เลยนะ และยิ่งมันพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งหวาดกลัวว่ามันจะสามารถทำร้ายเราได้ในอนาคต ซึ่งตัวหนังก็ได้ย่อประเด็นนี้ให้มาอยู่ในสเกลที่เล็กลง ที่ไม่ใช่เรื่องมหาสงครามของกองทัพมนุษย์ปะทะกองทัพหุ่นยนต์ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างคุณแม่ที่เป็นมนุษย์กับลูกบุญธรรมที่เป็นหุ่นยนต์ และมันก็ทำให้เห็นภาพได้ชัดมากขึ้นว่า ความหวาดกลัวของมนุษย์ในสิ่งที่ตัวเองไม่อาจควบคุมได้นั้นมีมากแค่ไหน แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่ถึงอย่างนั้น เดวิดก็เป็นแค่ปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป ที่ถูกโปรแกรมและได้วิเคราะห์องค์ความรู้ที่ตัวเองได้รับจนกลายเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งเหมือนมนุษย์ทั่วไป ที่รัก โลภ โกรธ หลงเป็น ต่างก็ตรงที่ว่าร่างกายของเขาเป็นเครื่องจักรเท่านั้นเอง ผมสัมผัสได้ถึงความไร้เดียงสาและอารมณ์ของหุ่นยนต์ตัวนี้ที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไป ราวกับว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่งจริงๆ จนทำให้ผม(และน่าจะคนดูอีกหลายๆคน)รู้สึกอยากเป็นกำลังใจให้เดวิดสมหวังในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

แม้ว่าโมนิก้าจะบอกกับเดวิดว่า “บลูแฟร์รี่นั้นมีแค่ในนิทานเท่านั้น”

มนุษย์บางกลุ่มในภาพยนตร์มักจะจับกุมพวกหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ มาทำลายทิ้งเพื่อความบันเทิง โดยอ้างเหตุผลว่าทำไปเพื่อปกป้องการสูญสิ้นของมวลมนุษยชาติ

ถ้าจะสรุปสิ่งสำคัญที่ผู้สร้างต้องการจะนำเสนอเกี่ยวกับสังคมปัญญาประดิษฐ์ ผมว่าคงเป็นเรื่องของศีลธรรมในใจมนุษย์ในอนาคต ถ้าวันหนึ่ง หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์มีจิตใจที่เหมือนมนุษย์จริงๆแบบ 100% ขึ้นมา เราจะยอมรับสถานภาพของพวกเขาในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคมได้หรือเปล่า? เราจะปฏิบัติกับพวกเขาเสมือนเพื่อนมนุษย์คนนึงหรือสิ่งของ? เราจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขาได้อย่างสบายใจหรือไม่? และถ้าเกิดพวกเขาเกิดปัญหา หรือสร้างปัญหาที่ไม่ได้ร้ายแรงจนถึงขั้นทำลายล้างมนุษยชาติอย่างชัดเจนขึ้นมา เราจะหาทางแก้อย่างสันติวิธีโดยไม่ต้องจับพวกเขาไปทำเศษเหล็กได้หรือไม่?

สปีลเบิร์ก กับ โจเอล ออสเมนท์

เอาเป็นว่าถ้าอยากหาภาพยนตร์ไซไฟเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ดู ไม่ว่าจะเพื่อสัมผัสอรรถรสของโลกปัญญาประดิษฐ์ก่อนที่มาสค์ไรเดอร์ซีโร่วันจะฉายในอนาคต หรือจะเพื่ออะไรก็ตาม เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ผมแนะนำเป็นเรื่องแรก เพราะตัวเรื่องมันสนุกและย่อยง่าย และดูได้ทุกวัย จำได้ว่าตอนเด็กผมเคยนั่งดูเรื่องนี้กับคุณ ตอนนั้นฉายทางทีวี รู้สึกชอบมาก แต่ก็ยังไม่เก็ตเรื่องราวอะไรมากเท่าไหร่จนกระทั่งหามาดูอีกครั้งตอนโต จนเข้าใจแล้วรู้สึกประทับใจมาก ผมแนะนำเลยครับ ตัวเดวิดนำแสดงโดยฮาลีย์ โจเอล ออสเมนท์ ซึ่งเป็นนักแสดงเด็กที่เก่งมากคนนึงในตอนนั้น รับรองได้เลยว่าไม่ผิดหวังแน่ๆ

About Pan Yoshizumi 118 Articles
นอกจากซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบแล้ว ผมยังชอบไอดอลสาว และการท่องโลกอีกต่างหาก....