ชื่อซีรีส์: Kamen Rider Revice (仮面ライダーリバイス)
ออกอากาศ: 5 กันยายน 2021 – 28 สิงหาคม 2022 (50 ตอน)
เพลงเปิด: “liveDevil” โดย Da-iCE ft. Subaru Kimura
นำแสดงโดย: Maeda Kentarō, Kimura Subaru, Hyūga Wataru, Imoto Ayaka, Hamao Noritaka, Asakura Yui, Seki Hayata, Hachijōin Kurōdo, Komatsu Jun’ya, Emi Kurara และ Totsugi Shigeyuki
Producer: Mochizuki Taku
Writer: Kinoshita Hanta
เรื่องย่อ:
ในปี 1971 ได้มีการค้นพบวัตถุโบราณที่กักพลังของสุดยอดสิ่งมีชีวิตอย่าง “Giff” เอาไว้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำมันมาวิเคราะห์และดัดแปลง พวกเขาจึงได้สร้างมันขึ้นมาอีกหลายชิ้นโดยตั้งชื่อว่า “Vistamp”
มาจนถึงยุคปัจจุบัน โรงอาบน้ำ Shiawase Yu ที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัว Igarashi นำโดยลูกชายคนโตของบ้าน Igarashi Ikki ชายผู้ได้ยินเสียงกระซิบของปีศาจ วันหนึ่งในงานประดับยศของลูกชายคนรอง “Igarashi Daiji” ซึ่งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยประจำองค์กร FENIX หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งมาเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้ Vistamp ได้ถูกโจมตีจากกลุ่ม Deadmans
Ikki พยายามต่อสู้ปกป้องครอบครัวของตน แต่ในตอนนั้นเอง Vice ปีศาจที่คอยส่งเสียงหาตัวเขาได้ปรากฎตัวออกมาต่อหน้า เพื่อไม่ให้ปีศาจอาละวาดได้ตามใจ และเพื่อไม่ให้ Deadmans สร้างความเสียหายไปมากกว่านี้ Ikki จึงตัดสินใจใช้ Rider System แปลงร่างเป็น Kamen Rider Revi และทำสัญญากับปีศาจอย่าง Vice เพื่อให้ใช้พลังได้อย่างสมบูรณ์
การต่อสู้ของไรเดอร์ ผู้มีปีศาจมาเป็นเพื่อนร่วมทาง Kamen Rider Revice ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว
Review:
แรกเริ่มเดิมที โปรดิวเซอร์ Mochizuki Taku ตั้งเป้าหมายจะให้ซีรีส์นี้เป็นการเดินทางของตัวละครหลัก เพื่อสื่อถึงการสิ้นสุดของสภาวะโรคระบาดอย่าง COVID-19 แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าแต่ก่อน Project ดังกล่าวจึงลดสเกลลงมาเหลือให้เป็น “ครอบครัว” แทน
ในฐานะที่เป็นซีรีส์ครบรอบ 50 ปี กิมมิคที่นำเอาตัวละครเก่ามาใช้นั้นถือว่าไม่ค่อยสร้างความฮือฮาแล้ว ทีมงานจึงใส่ Easter Egg ลงไปในดีไซน์ของร่างฟอร์มต่าง ๆ แทนเพื่อสร้างความแปลกใหม่ ก่อนจะติดต่อทางมือเขียนบท Kinoshita Hanta ผู้สร้างปรากฏการณ์งานเขียนไลท์โนเวลยอดขาย Bestseller มาเป็น Head Writer ของเรื่อง
พล็อตเดิมนั้น Kinoshita วางแผนจะใช้ตัวละครหญิงเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง ทว่าหลังจากปรึกษากับทีมงานแล้วความคิดดังกล่าวก็ถูกปัดตกไป ก่อนจะใช้ครอบครัวของตนมาเป็นต้นแบบในการร่างสคริปต์ และ Concept เดิม จะให้เป็นครอบครัวที่มีการสูญเสียคุณแม่ไปในตอนที่ 1 เพื่อสร้างแรงกระตุ้นกับเนื้อหา แต่แล้วแนวคิดดังกล่าวก็ถูกพับหายไปอีก
Kamen Rider Revice มีการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร แต่ด้วยงานเขียนบทของ Kinoshita Hanta ชายผู้สร้างตัวตนมากับนวนิยายแนวสอบสวนหักมุม การสื่อความหมายของซีรีส์นั้นกลับเป็นไปอย่างทุลักทุเล หยิบตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ พอตรงนี้หายก็ปล่อยผ่าน หรืออยู่ ๆ อยากสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาให้ดูมีพลัง ก็ไม่ปังแถมยังแป้กให้แฟน ๆ ก่นด่ามากกว่าสองเรื่องในยุคเรวะก่อนหน้าเสียอีก
ข้อเสียที่เป็นประเด็นใหญ่ในการดำเนินเรื่องอาจจะมีด้วยกันหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนนโยบายแนวทางการจำหน่ายสินค้า ที่เน้นไปผลิตแบบเฉพาะกลุ่ม (P-BANDAI) มากกว่าสินค้าทั่วไป การสร้างคอนเทนต์เพื่อเข้าไปขายในแชนแนลของ TTFC หรือแม้แต่การอิงกระแสสังคมโดยปรับเปลี่ยนบทบางส่วน และโปรโมทว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในแผนเพื่อสร้าง Value ว่าทีมงานนั้นแคร์ผู้ชมมากแค่ไหน
และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น หากเปรียบเสมือนร้านกาแฟสักร้านหนึ่งที่มีลูกค้าประจำแวะเวียนเข้ามาสั่งเครื่องดื่มทุกวัน เจ้าของร้านมองว่าสินค้าประเภทอื่นนอกจากกาแฟน่าจะไปได้ดี จึงค่อย ๆ ยัดลงมาในเมนูหลักและเสิร์ฟแบบฮาร์ดเซล ทำแบบนี้วนไปกระทั่งเมนูเครื่องดื่มเพิ่มเป็นสิบรายการ ทว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ กลับมามีแค่กาแฟแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำเดิม หาใช่น้ำปั่นแดงโซดาซ่า หรือน้ำมะนาวผสมอะโวกาโดเพื่อสุขภาพตามกระแส
จริงอยู่ว่าลูกค้าอยากลองของใหม่ แต่ของใหม่ทั้งหมดทั้งปวงที่ร้านใส่เข้ามามันรสชาติแปลก ๆ และไม่อร่อยเอาเสียเลย อาจจะถูกปากลูกค้าบางคน และขายได้ในกลุ่มผู้นิยมความแปลก แต่สุดท้ายหากไม่รักษาคุณภาพของเมนูเดิมเอาไว้ได้ ก็สู้ไปกินเครื่องดื่มบำรุงกำลังแทนเสียจะดีกว่า
มาถึงจุดดีงามพระรามแปดของเรื่องกันบ้าง ใช่ว่าข้อเสียจะมีเต็มกระดานไปซะทีเดียว ความประทับใจ และเนื้อหาที่น่าติดตามนั้นอยู่ในช่วงแรกของการเปิดตัวซีรีส์ การสร้างปมตัวละครให้คนดูคล้อยตามและอยากซัพพอร์ตพวกเค้าต่อ หรือเนื้อพิเศษที่เอามาขยายใจความสำคัญ ก็ทำได้ดี (แถมดีกว่าในเนื้อหาหลักอีก) ไม่นับของเล่นที่น่าเก็บ ความน่ารักของตัวละครหญิงที่ให้แฟน ๆ ได้ตามยันแผงหนังสือ รวมไปถึงเซอร์วิสที่มาเอาใจแฟนคลับคาเมนไรเดอร์ด้วยกิมมิคดีไซน์ซึ่งถูกซ่อนเอาไว้ให้ค้นหากัน (เจอหรือเปล่าอีกเรื่องนะ)
ส่วนธีมครอบครัวที่ถูกเล่าออกมาก็ทำได้ไม่เลว หากเรามองข้ามประเด็นสุดประหลาดของตัวละครแต่ละตัวออกไป ความซาบซึ้งที่ได้ก็ไม่ต่างจากการอ่านนิยายเกี่ยวกับปมชีวิตที่ตัวเอกของเรื่องต่อสู้เพื่อทุกคน แต่สิ่งที่ต้องแลกคือตัวตนที่จะต้องหายไปจากความทรงจำของคนรอบข้างแทน หรือการเอาชีวิตเข้าแลกของ “พ่อ” ในหลายแง่มุม ทั้งพ่อแท้ พ่อเทียม หรือพ่อ Wanna Be การก้าวข้ามกำแพงเหล่านั้นมันแลกมาด้วยอดีตอันโหดร้าย หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ตาม
ย้อนกลับไปย่อหน้าก่อนนั้น คำถามคือสารพัดรายการเครื่องดื่มทั้งเป็นออริจินัล และเครื่องดื่มตามกระแส ซึ่งถูกตั้งเรียงรายแกมบังคับมาให้คุณดื่ม ไอ้ที่อยากกินก็เสือกไม่อร่อย ไอ้ที่มองว่าหน้าตาประหลาดก็ดันกินได้ซะงั้น
คำถามคือคุณชอบน้ำมะนาวปั่นผสมอะโวกาโดหรือเปล่าล่ะ?
ถ้าคุณชอบ Kamen Rider Revice อาจจะเป็นซีรีส์ที่คุณรักที่สุดก็เป็นได้
สรุป:
Kamen Rider Revice คือซีรีส์ที่ทีมงานตั้งเป้าหมายจะให้เป็นซีรีส์แห่งการฮีลจิตใจของผู้ชมหลังผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาด แต่ทว่าแผนที่วางเอาไว้ดันไปผิดทางนิดหน่อย ประกอบกับการทำงานที่อาศัยอีโก้ขั้นสุดของคนเขียนบท มันเลยทำให้หลายอย่างในเรื่องนั้นไม่เป็นไปตามแผน และค่อยปะ คอยซ่อม หรือคอยเสริมอะไรแปลก ๆ ลงไปจนกระทั่งปมหลักของตัวละคร หรือเนื้อหาบางตัวมันไม่สุดสักอย่าง
ทว่ามันกลับแก้ตัวด้วยเนื้อหาเสริมที่ต้องไปติดตามเอาเพิ่มเติมทั้งตอนพิเศษที่มาพร้อมสินค้า หรือตอนพิเศษในช่องทางเฉพาะ ข้อดีคือคุณได้เห็นนักแสดงเก่า ๆ กลับมามากมาย การออกแบบและไข่อีสเตอร์ที่ซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์แฟนกลุ่มเดิมที่ติดตามมาอย่างยาวนาน พร้อมกับตั้งคำถามเป็นเครื่องหมายปรัศนีย์ใหญ่ ๆ และถามแบบ “อาจารย์แดง กีตาร์” ในบางส่วนที่เกิดขึ้นในเรื่องว่า…